จังหวัดเชียงใหม่ ย้ำชัดห้ามปล่อยโคมลอยทุกพื้นที่ในเขตอำเภอเมืองและใกล้เคียง รวม 6 อำเภอ ขณะที่อีก 8 อำเภอ ได้รับอนุญาตให้ปล่อยได้ แต่จะต้องเป็นโคมตามมาตรฐานที่กำหนด มียอดรวมแล้วกว่า 4 หมื่นดวง

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานแถลงมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการปล่อยโคมลอยในช่วงประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2566 สำหรับปีนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดวันและเวลาปล่อยโคม รวมถึงลักษณะของโคม และพื้นที่ปล่อยโคมอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้กระทบกับการขึ้นลงของอากาศยาน และเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยสามารถทำการปล่อยโคมได้เพียง 2 วันเท่านั้น คือ วันที่ 27 และ 28 พฤศจิกายน 2566

ในวันที่ 27 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันลอยกระทงเล็ก จะอนุญาตให้ปล่อยโคมควันหรือว่าวฮมได้เฉพาะเวลา 10.00-12.00 น. ส่วนโคมลอยและโคมไฟ อนุญาตให้ปล่อยได้เฉพาะเวลา 19.00-01.00 น. ส่วนในวันที่ 28 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันแห่ขบวนกระทงใหญ่ กำหนดให้ปล่อยโคมลอยและโคมไฟได้เฉพาะเวลา 19.00-01.00 น. แต่ไม่อนุญาตให้ปล่อยโคมควันหรือว่าวฮม โดยเน้นย้ำว่า ต้องปล่อยในพื้นที่ที่มีการขออนุญาตแล้วเท่านั้น

...

จังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดพื้นที่ห้ามจุดและปล่อยโคมโดยเด็ดขาดใน 6 อำเภอ 39 ตำบล ประกอบด้วย อำเภอเมือง และอำเภอหางดง ทุกตำบล, อำเภอสารภี ในพื้นที่ตำบลขัวมุง ตำบลดอนแก้ว ตำบลสันทราย ตำบลท่าวังตาล และตำบลหนองผึ้ง, อำเภอสันทราย พื้นที่ตำบลหนองหาร, อำเภอแม่ริม พื้นที่ตำบลดอนแก้ว ตำบลเหมืองแก้ว ตำบลริมใต้ ตำบลแม่สา ตำบลริมเหนือ และอำเภอสันป่าตอง พื้นที่ตำบลทุ่งเสี้ยว

เนื่องจากเป็นพื้นที่ชุมชนและอยู่ในรัศมีของเครื่องบิน สำหรับอำเภอและตำบลอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือพื้นที่ห้ามเด็ดขาด หากสถานที่ใดจะจัดให้มีการจุดและปล่อยโคมลอย จะต้องยื่นอนุญาตต่อนายอำเภอก่อนไม่น้อยกว่า 30 วัน หรือก่อนวันที่ 28 ตุลาคม 2566 โดยจะต้องทำสัญลักษณ์หรือสี เพื่อให้สะดวกในการติดตามหากมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น พร้อมทั้งทำบันทึกข้อตกลงแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหาย และเตรียมแผนรักษาความปลอดภัยรองรับ โดยขณะนี้มีอำเภอที่ขออนุญาตปล่อยโคมแล้ว 8 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอแม่แตง สันทราย แม่ออน ดอยหล่อ ดอยสะเก็ด แม่ริม สันป่าตอง และสันกำแพง และมีจำนวนโคมลอยที่ขออนุญาตปล่อยแล้ว รวมทั้งสิ้น 40,100 ดวง

นอกจากนี้ โคมลอยที่จะปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าได้นั้น จะต้องเป็นโคมลอยที่ถูกต้องตามมาตรฐาน มผช.808/2552 คือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนของกระทรวงอุตสาหกรรม คือ ต้องมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 90 เซนติเมตร สูงไม่เกิน 140 เซนติเมตร ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ ใช้กระดาษว่าวชนิดบาง มีปริมาณเชื้อเพลิงไม่เกิน 55 กรัม ใช้เวลาในการเผาไหม้ไม่เกิน 8 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมกับระยะเวลาที่โคมลอยอยู่ในอากาศ และส่วนที่เป็นเชื้อเพลิงต้องยึดติดกับเชือกทนไฟหรือลวดอ่อน พร้อมระบุชื่อผู้ผลิต สถานที่ผลิต และคำเตือนติดกับตัวโคมลอยด้วย ที่สำคัญคือห้ามผูกพลุ ดอกไม้ไฟ ประทัด ไปกับโคมในขณะปล่อยเด็ดขาด

ผู้ที่ฝ่าฝืนการจุดและปล่อยโคมลอยโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหากปล่อยโคมทำให้เกิดเพลิงไหม้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.