เที่ยวทิพย์ไปกับไทยรัฐออนไลน์ ไปขึ้นเครื่องบินที่ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ของใหม่ล่าสุดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดประสบการณ์การเดินทางใหม่ ตั้งแต่รถไฟเชื่อมอาคาร ตัวอาคารที่โปร่งโล่ง ประหยัดพลังงาน และเกตขึ้นเครื่องสุดไฮเทค

หลังจากที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ทำพิธีเปิดให้บริการแบบ Soft Opening อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ AOT นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมเปิดตัวอาคารใหม่กันอย่างคึกคัก

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ AOT อธิบายถึงว่า อาคาร SAT-1 หลังใหม่ว่า จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) จาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี ขณะนี้ พร้อมเปิดต้อนรับ นักเดินทางจากทั่วโลกด้วยบริการที่มีคุณภาพและความปลอดภัยระดับมาตรฐานสากล ยกระดับขีดความสามารถของ ทสภ.สู่ท่าอากาศยานชั้นนําระดับโลกและรองรับการเป็นฮับการบินของภูมิภาคเอเชีย

...

ผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวถึงอาคาร SAT-1 ว่า ได้มีการนําเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้บริการกับนักท่องเที่ยว อาทิ รถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover: APM) ที่เชื่อมระหว่างเทอร์มินอลหลักกับ SAT-1 เพื่อพาผู้โดยสารขาออกที่ผ่านการเช็กอิน และพิธีการตรวจคนเข้าเมืองไปขึ้นเครื่องบิน และนำผู้โดยสารขา ไปผ่านพิธีตรวจคนเข้าเมือง และรับกระเป๋าที่สถานีหลัก เข้าโดย AOT ให้ความสำคัญในเรื่องระดับการให้บริการ (Level of Service) เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยมากที่สุด

ด้านการตกแต่งภายในอาคารเป็นแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมและศิลปะที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้กลมกลืนไปกับโครงสร้างอาคารที่ทันสมัย ทั้งยังคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการออกแบบอาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Design) ใช้วัสดุการก่อสร้างที่ดูแลรักษาได้ง่าย มีวัสดุที่เป็นฉนวนความร้อน เพื่อช่วยให้ประหยัดพลังงาน และเน้นการใช้แสงธรรมชาติ เพื่อให้เปิดไฟน้อยลง สอดรับกับแผนขับเคลื่อน ทสภ.ให้ก้าวสู่การเป็นสนามบินรักษ์โลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Airport)

...

นอกจากนี้ การออกแบบพื้นที่ใช้สอยของอาคาร SAT-1 ยังคำนึงถึงการใช้งานของทุกเพศทุกวัยอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) เช่น ห้องนั่งสมาธิ ห้องละหมาด ที่แยกระหว่างหญิง-ชาย ห้องแม่และเด็ก (Babycare Room) รวมทั้งมีห้องและพื้นที่สำหรับเด็กเล่น เก้าอี้พักคอยที่ติดตั้งที่ชาร์จมือถือสมาร์ทโฟน พร้อมอุปกรณ์เสริมเป็น เต้ารับไฟฟ้า และช่องเสียบ USB แบบ Universal เป็นต้น สำหรับประตูขึ้นเครื่อง (Gate) จะเป็นระบบตรวจบัตรโดยสารอัตโนมัติ ที่ผู้โดยสารสามารถสแกนบัตรโดยสารขึ้นเครื่องได้เอง

...

อาคาร SAT-1 มีพื้นที่ใช้สอย ภายในอาคาร 251,400 ตารางเมตร และพื้นที่ลานจอดอากาศยานรวมกว่า 260,000 ตารางเมตร เป็นอาคารสูง 4 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น เชื่อมต่อกับ Main Terminal ด้วยอุโมงค์ใต้ดิน ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ทั้งขาออกและขาเข้าระหว่างประเทศ สําหรับพื้นที่ลานจอดอากาศยานของอาคาร SAT-1 ประกอบด้วยหลุมจอดประชิดอาคารทั้งหมด 28 หลุมจอด (งวง) สามารถจอดอากาศยานขนาด Code F เช่น แอร์บัส A380-800 ได้ 8 หลุมจอด และอากาศยานขนาด Code E เช่น โบอิ้ง 747 และ แอร์บัส A340 แอร์บัส A330 โบอิ้ง 777 โบอิ้ง 787 ได้ 20 หลุมจอด มีสะพานเทียบอากาศยาน 64 สะพาน ปัจจุบันอาคาร SAT-1 ได้ผ่านการทดลองปฏิบัติการ ความพร้อมทั้งระบบ มีบุคลากรที่ผ่านการอบรมตามเกณฑ์มาตรฐาน พร้อมเข้าปฏิบัติงาน ตลอดจนได้มีการตรวจสอบความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลโดยหน่วยงานควบคุมและกํากับดูแลที่เกี่ยวข้อง

...

สำหรับสัปดาห์แรกที่เปิดให้บริการจะมีสายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ให้บริการที่ SAT-1 วันละประมาณ 14 เที่ยวบิน และสายการบินไทยเวียตเจ็ทจะให้บริการวันละประมาณ 4 เที่ยวบิน และจะเพิ่มจำนวนเที่ยวบินและสายการบินจนเต็มศักยภาพภายในปลายปี 2566 โดยตอนนี้อาคาร SAT-1 ได้รับความสนใจจากสายการบินชั้นนำของโลกมาใช้งานแล้ว เช่น สายการบินเอมิเรตส์ และกาตาร์แอร์เวย์ส ที่จะมีการเปิดเลาจน์ภายในอาคารที่บริเวณชั้น 4 ของอาคารด้วย.