เกษตรกรชาวโคราช โอดนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทในรัศมี 4 กม. มีแต่ร้านขายของชำ ซื้อได้แต่กะปิ น้ำปลา แต่อยากไปซื้อปุ๋ยซื้อสารเคมีการเกษตรมากกว่า วอนรัฐขยายเป็นทั้งอำเภอ ขณะที่ร้านขายของชำหวั่นโดนเก็บภาษีอ่วม ไม่กล้าเข้าร่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่รัฐบาล โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้มีนโยบายจะแจกเงินเข้ากระเป๋าดิจิทัลวอลเล็ต ให้กับประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท โดยสามารถให้ประชาชนได้ใช้ในรัศมี 4 กิโลเมตร ตามบัตรประชาชน ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในวันที่ 1 ก.พ. 67 นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ต.สีมุม อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นชุมชนกึ่งชนบทกึ่งเมือง อยู่ห่างจากใจกลางอำเภอเมืองนครราชสีมา ประมาณ 15 กิโลเมตร พบว่าประชาชนส่วนใหญ่อยากให้รัฐบาลขยายเขตการใช้เงินดิจิทัลให้ครอบคลุมทั้งอำเภอ เนื่องจากในพื้นที่ชุมชนแทบจะไม่มีร้านค้าใดที่สามารถใช้เงินดิจิทัลได้เลย

นายประสงค์ วงตา อายุ 66 ปี ชาวบ้านแปะ หมู่ที่ 8 ต.สีมุม อ.เมือง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ครอบครัวของตนเองนั้น มีสมาชิกอยู่ทั้งหมด 4 คน โดยประกอบไปด้วย ตนเอง อายุ 66 ปี ภรรยาของตนเอง อายุ 63 ปี ลูกสาว อายุ 33 ปี และลูกเขย อายุ 35 ปี ซึ่งถ้าได้เงินดิจิทัล ก็จะได้ทั้ง 4 คน เพราะอายุเกิน 16 ปีกันหมดแล้ว แต่ถ้าจะใช้ก็คงจะแยกเป็น 2 ครอบครัว เฉพาะตนเองกับภรรยา ก็ได้รวมกัน 20,000 บาท ถ้าได้เงินจำนวนนี้มาใช้ ก็อยากจะนำไปใช้ซื้อปุ๋ย ซื้อยา มาใส่นาข้าวที่ปลูกไว้ทั้งหมด 50 ไร่ แต่ปัญหาคือในหมู่บ้านไม่มีร้านขายปุ๋ย ขายยา สำหรับใช้ในการเกษตรเลย มีเพียงร้านขายของชำ 2 ร้าน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเขาจะรับเงินดิจิทัลได้หรือไม่ ถ้าใช้กับร้านขายของชำได้ ก็จะซื้อของใช้ในครัว เช่น พริก กะปิ น้ำปลา ผงชูรส ซอส และน้ำมันพืช เป็นต้น

...

ชาวบ้านแปะ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม แต่ถ้าจะให้ใช้เงินดิจิทัลที่ได้ซื้อของเหล่านี้ทั้งหมด ก็คงจะมีแต่กะปิ น้ำปลา เต็มบ้านแน่ เพราะสิ่งที่เกษตรกรอย่างพวกตนต้องการใช้จริงๆ คือสินค้าทางการเกษตรมากกว่า แต่เท่าที่เห็นมีร้านขายสินค้าทางการเกษตรอยู่ใกล้ๆ เพียง 1 ร้าน ซึ่งใกล้ที่สุดก็ระยะทางก้ำกึ่ง 4 กิโลเมตรไปแล้ว ตนเองก็ไม่รู้ว่าเขาจะวัดระยะทางจากตรงไหน ถ้าไปถึงร้านแล้ว เกินระยะทางที่กำหนดแค่ 10-20 เมตร ก็คงจะใช้เงินดิจิทัลไม่ได้แน่นอน ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลขยายระยะทางให้ครอบคลุมทั้งอำเภอจะดีกว่า

ด้าน น.ส.ปราณี ขุมพลกรัง อายุ 44 ปี แม่ค้าร้านขายของชำแห่งหนึ่ง ในหมู่บ้านแปะ หมู่ที่ 8 ต.สีมุม อ.เมือง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ในส่วนของร้านขายของชำอย่างพวกตนนั้น ก็มองว่านโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ท้ายที่สุดแล้วก็จะเข้าไปกระจุกอยู่แต่กับร้านค้าขนาดใหญ่ และร้านสะดวกซื้อของกลุ่มทุนใหญ่เท่านั้น เพราะร้านขายของชำเล็กๆ ที่กระจายอยู่ตามชุมชนต่างๆ ไม่มีใครกล้าเข้าร่วมโครงการนี้แน่นอน เนื่องจากเท่าที่ฟังมา ร้านที่เข้าร่วมโครงการ ต้องใช้เงินลงทะเบียนร้านละ 10,000 บาท ต้องทำเรื่องเบิกเงินหลังจบโครงการไปแล้ว ซึ่งกินระยะเวลานานถึง 6 เดือน และต้องทำเรื่องหักภาษีอีกจำนวนมาก

แม่ค้าร้านขายของชำ กล่าวด้วยว่า ในขณะที่สภาพความเป็นจริง ร้านขายของชำจำเป็นต้องนำเงินมาหมุนเวียนในร้านค้าตลอดทุกวัน ดังนั้นจึงไม่มีใครอยากเข้าร่วมโครงการนี้แน่นอน ถ้ารัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้กระจายไปทั่วทุกพื้นที่จริงๆ ก็ต้องพยายามโฟกัสมาที่ร้านขายของชำ ว่าทำอย่างไรเขาจะได้อยากเข้าร่วมโครงการมากๆ เพราะแถวชนบทในเขตรัศมี 4 กิโลเมตร ส่วนใหญ่ก็จะมีแต่ร้านขายของชำกันทั้งนั้น.

...