ร้านข้าวนึ่งที่ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี จ่อปรับราคาข้าวที่ขายเป็นถ้วย หลังทนราคาข้าวสารพุ่งไม่ไหว ข้าวหอมมะลิ กระสอบละ 1,500 บาท ขณะที่ ข้าวเหลืองอ่อน กระสอบละ 980 บาท ต้นทุนพุ่งจนไม่เหลือกำไร แต่ต้องทนเพราะกลัวขึ้นราคาแล้วลูกค้าไม่ซื้อ

จากกรณีที่ กระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลราคาข้าวให้เกิดความสมดุล หลังเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงจากเอลนีโญ และการระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยปัจจุบันราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 อยู่ที่ตันละ 12,000-12,500 บาท

ผู้สื่อข่าวจึงได้ลงพื้นที่ จ.ราชบุรี เพื่อพูดคุยกับผู้ประกอบการร้านข้าวนึ่ง ถึงผลกระทบจากราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยได้พูดคุยกับ นายชัชวาลย์ ศรเพชร เจ้าของร้านอุดมทรัพย์ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองโพธาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ก่อนจะได้รับการเปิดเผยว่า หลังจากตนต้องตกงานเพราะพิษโควิด-19 จึงได้ผันตัวมาเช่าห้องแถวเปิดร้านขายข้าวนึ่ง มีทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวธรรมดา และข้าวกล้อง ปัจจุบันเปิดขายมาแล้ว 3 ปี ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ

...

เจ้าของร้านอุดมทรัพย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนการขายแต่ละเดือน ตนจะต้องซื้อข้าวสาร ทั้งข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ข้าวเหลืองอ่อน และข้าวกล้อง ขนาด 50 กิโลกรัม รวมประมาณ 50 กระสอบ เมื่อนำมาผ่านการนึ่งแล้วก็จะขายข้าวธรรมดาในราคา 2 ถ้วย 5 บาท สำหรับข้าวหอมมะลิและข้าวกล้องจะขายในราคา 3 ถ้วย 10 บาท ทำให้พอมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว กระทั่งช่วงต้นเดือน ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ราคาข้าวสารได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยข้าวหอมมะลิจากจากเดิมที่ 1,300 บาทต่อกระสอบ ขึ้นเป็น 1,500 บาท และข้าวเหลืองอ่อนจาก 890 บาท ขึ้นเป็น 980 บาท

นายชัชวาลย์ กล่าวอีกว่า เมื่อมาคำนวณถึงรายได้หักลบกับค่าแก๊สเชื้อเพลิง ค่าถุงพลาสติก ค่าน้ำ และค่าไฟฟ้า ที่ต่างทยอยปรับราคาขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ โดยยังไม่นับรวมค่าแรง ทำให้ตนแทบไม่เหลือเงินเลย แต่ก็ต้องทนทำไปก่อน ไม่กล้าปรับราคา เพราะเกรงว่าจะทำให้ลูกค้าลดลง ตนจึงตัดสินใจสั่งซื้อข้าวล่วงหน้าจากร้านประจำ ด้วยการจ่ายเงินมัดจำเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่ก็ถูกปฏิเสธ ซึ่งทางร้านให้เหตุผลว่า เนื่องจากขณะนี้ข้าวสารไทยถูกส่งขายไปยังต่างประเทศจำนวนมาก ปริมาณข้าวภายในประเทศมีไม่เพียงพอ ทำให้ราคาจำหน่ายในแต่ละวันมีความผันผวนตามกลไกตลาด

...

เจ้าของร้านอุดมทรัพย์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มผู้ประกอบการจำหน่ายข้าวนึ่งได้เริ่มมีการปรึกษาพูดคุยกันแล้วถึงปัญหาราคาต้นทุนข้าวสาร ซึ่งยังหาทางออกไม่ได้ นอกเสียจากจะต้องเพิ่มราคาจำหน่ายข้าวธรรมดาในราคา 4 ถ้วย 12 บาท ส่วนข้าวหอมมะลิและข้าวกล้องจะขายในราคา 3 ถ้วย 12 บาท เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด แต่ก็สงสารลูกค้า ตนจึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องพูดคุยกับโรงสี ขอให้ช่วยพยุงราคาอย่าให้สูงไปมากกว่านี้ และอยากให้ช่วยปรับลดปริมาณส่งออกข้าวให้สมดุลกับการบริโภคผ่านในประเทศ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน.