ชาวบ้านนครพนมพลิกวิกฤติน้ำโขงสูง ทำลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม แหล่งขยายพันธุ์ปลาเอ่อล้นท่วมนาข้าว ทำให้ชาวบ้านหันมาจับปลาแทน โดยออกจับ ปลาบึก ปลาค้าว ปลาแข้ ปลาคัง ปลากด ปลานาง ทำตลาดปลาคึกคัก มีเงินสะพัดในท้องถิ่น สร้างรายได้ชดเชยน้ำท่วม
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม ระดับน้ำโขงยังเพิ่มต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ระดับประมาณ 11 เมตร ห่างจากจุดล้นตลิ่งประมาณ 1 เมตร คือ ที่ระดับ 12 เมตร ส่งผลให้ลำน้ำสาขาสายหลัก มีปริมาณน้ำสูง เนื่องจากระบายลงน้ำโขงไม่ทัน โดยเฉพาะพื้นที่ลำน้ำอูน ที่รองรับน้ำมาจากพื้นที่ จ.สกลนคร ไหลมาสมทบ ลำน้ำสงคราม ในพื้นที่ อ.ศรีสงคราม ก่อนไหลระบายลงน้ำโขงที่ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ล่าสุดปริมาณน้ำยังเกินความจุ ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตร รวมถึงพื้นที่ลุ่มเลี้ยงสัตว์ เป็นเนื้อที่เกือบ 10,000 ไร่ ทำให้เกษตรกรชาวนา ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ในช่วงฤดูฝน ต้องหันไปทำนาปรังแทนในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก นอกจากบางปีที่ปริมาณน้ำโขงต่ำ ทำให้สามารถทำนาได้ในช่วงฤดูฝน
...
ขณะเดียวกัน หลังน้ำโขงหนุนลำน้ำสาขา รวมถึงลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม เอ่อท่วมพื้นที่การเกษตร ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ได้พลิกวิกฤติเป็นโอกาส หันไปทำอาชีพประมง จับปลาขาย สร้างรายได้ ส่งผลให้ในช่วงนี้ พบว่าตลาดปลาในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงตลาดสดเทศบาลตำบลศรีสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม มีบรรดาพ่อค้าแม่ค้านำปลาน้ำโขงมาวางขายกันคึกคัก เงินหมุนเวียนสะพัด วันละนับแสน
จากการสอบถามชาวบ้าน บรรดาพ่อค้าแม่ค้า ระบุว่า ในช่วงน้ำโขงสูง ทำให้เป็นโอกาสดี เนื่องจากปลาน้ำโขง จะขึ้นมาวางไข่ ขยายพันธุ์ในลำน้ำอูน และลำน้ำสงคราม เนื่องจากเป็นต้นน้ำแหล่งขยายพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ ที่ใหญ่ที่สุดของอีสาน ทำให้เป็นโอกาสทองของชาวบ้านทำอาชีพประมงหันไปจับปลาน้ำโขงมาขาย ชดเชยหลังถูกน้ำท่วมนาข้าวในช่วงฤดูฝน ส่วนใหญ่จะเป็นปลาน้ำโขง ทุกชนิด ทั้งปลาบึก ปลาค้าว ปลาแข้ ปลาคัง ปลากด ปลานาง
สำหรับราคาที่ขายมีเริ่มตั้งแต่กิโลกรัมละ 100 – 500 บาท แพงสุด คือ ปลานาง หรือปลาเนื้ออ่อนแม่น้ำโขง จะมีราคาสูงประมาณกิโลกรัมละ 450 - 500 บาท เพราะหายาก และมีรสชาติอร่อย เป็นโอกาสดีชาวบ้านสร้างรายได้ นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่ชาวบ้านจับปลามาขาย และนำไปทำปลาแห้ง ทำปลาร้า และปลาส้ม ครบวงจรขายสร้างรายได้ตลอดปี กลายเป็นตลาดปลาน้ำโขงที่ใหญ่สุดในพื้นที่อีสาน ที่สร้างรายได้เงินหมุนเวียนสะพัดทุกปี.