แม่ค้าร้านอาหารตามสั่งที่ ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง เผย ราคาข้าวเริ่มกระทบผู้ประกอบการหลังราคาข้าวถุงสูงขึ้นอีก ทำให้เมื่อเจอราคาต้นทุนเครื่องปรุง ค่าแก๊สหุงต้ม น้ำมันพืช ไข่ไก่ เนื้อสัตว์และผักสดต่างๆ ต้นทุนต่อจานจึงเพิ่มอีก 10-20% จึงอยากวอนรัฐช่วยควบคุมราคา

จากกรณีที่กระทรวงพาณิชย์สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลราคาข้าวให้เกิดความสมดุล หลังเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงจากเอลนีโญ และการระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยปัจจุบันราคาข้าวเปลือกเจ้าอยู่ที่ตันละกว่า 12,000 บาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ จ.ราชบุรี พบกับผู้ประกอบการร้านอาหาร สอบถามถึงผลกระทบจากราคาข้าวที่เพิ่มขึ้น โดย น.ส.ปริยา เลี่ยวเจริญ เจ้าของร้านอาหารตามสั่ง ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง เปิดเผยข้อมูลว่า ตนเปิดร้านขายอาหารตามสั่งมาแล้วประมาณ 6 ปี เปิดเป็นร้านเล็กๆ บนที่ดินของตัวเอง ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนในละแวกชุมชน จึงตั้งราคาขายได้ไม่มาก หากเป็นแบบราดข้าวอยู่ที่จานละ 30 บาท หากสั่งเป็นกับข้าวจะอยู่ที่เมนูละ 40–50 บาท

...

เจ้าของร้านอาหารตามสั่ง กล่าวต่อว่า ในแต่ละเดือนต้องซื้อข้าวสายพันธุ์เหลืองอ่อนขนาด 15 กิโลกรัม จำนวน 2 กระสอบ เพื่อขายให้ลูกค้าและกินเองในครัวเรือน โดยราคาจำหน่ายเมื่อเดือน ก.ค. อยู่ที่กระสอบละ 320 บาท แต่ล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ราคาขายปรับเพิ่มขึ้นมาอีกกระสอบละ 35 บาท รวมเป็น 355 บาท หรือตกกิโลกรัมละ 2 บาท เมื่อนำมาคิดรวมกับต้นทุนอื่นๆ ที่ต่างทยอยปรับราคาขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นแก๊สหุงต้ม น้ำมันพืช น้ำตาล เครื่องปรุงรส วัตถุดิบอย่างอาหารทะเล และไข่ไก่ ตลอดจนผักต่างๆ อาทิ ผักคะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักชี และมะเขือเปราะ ทำให้ต้นทุนอาหารแต่ละจานเพิ่มขึ้นมาเฉลี่ยกว่าร้อยละ 10–20

น.ส.ปริยา กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวแล้ว ตนยังคงตัดสินใจขายข้าวในราคาเดิม แม้จะทำให้รายได้ลดลง เนื่องจากเห็นใจลูกค้า แต่อยากวอนให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยพิจารณาควบคุมราคาข้าวสารอย่าให้สูงไปมากกว่านี้ เพราะสุดท้ายแล้วหากร้านค้าไม่สามารถทนแบกรับต้นทุนได้ไหว ความเดือดร้อนนี้ก็จะตกไปอยู่ที่ผู้บริโภคอย่างแน่นอน.