เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมอีสาน ระบุ ภาคเอกชนเรียกร้องจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด โดยต้องเป็นรัฐบาลที่ประนีประนอม มีเสถียรภาพ นักลงทุนและภาคธุรกิจจะเชื่อมั่น ชี้ เศรษฐา เข้าใจระบบเศรษฐกิจ เหมาะนั่งนายกฯ

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคก้าวไกล หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นับตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ไปจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งนำไปสู่การส่งไม้ต่อจากพรรคก้าวไกลให้กับพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน และเสนอชื่อโหวตนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 27 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และอยู่บนพื้นฐานยึดตามข้อตกลง 8 พรรคการเมืองเดิม

เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวต่อว่า แต่เนื่องจากผลการโหวตนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา ทั้ง 8 พรรค รวมเสียงได้ 312 เสียง และไม่สามารถได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภามากพอ เพราะติดเงื่อนไขเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 พรรคเพื่อไทยจึงได้หารือกับ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพื่อเดินหน้าหาเสียงสนับสนุนจาก สว. และ สส.มาเพิ่ม เพื่อให้ได้เสียงเกิน 375 เสียง และอาจจะต้องดึงพรรคอื่นอีก 2-3 พรรค เข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนที่มากพอ

"แต่เนื่องจากมีหลายพรรคที่ระบุชัดเจนว่าไม่เอาพรรคก้าวไกล ดังนั้น ก็ต้องมาดูกันอีกทีว่าเมื่อมีเงื่อนไขความจำเป็นอื่นๆ เข้ามา ทางพรรคก้าวไกลจะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วยหรือไม่ และถ้าพรรคก้าวไกลไม่อยู่ ก็อาจจะมีปัญหาตามมา ไม่ว่าเรื่องความชอบธรรม เพราะเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากสุด และคนที่สนับสนุนนายพิธาและพรรคก้าวไกลอาจออกมาประท้วง ซึ่งหากประท้วงรุนแรงภาพลักษณ์ของประเทศก็จะไม่ดี จึงอยากจะเห็นบรรยากาศของการประนีประนอมกัน" นายหัสดิน กล่าว

...

เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวอีกว่า ถ้าก้าวไกลไม่ได้ร่วมรัฐบาล ทางพรรคก็ต้องพูดคุยกับผู้สนับสนุนให้เข้าใจ และอดทนต่อไปอีกสักนิด เพราะการเมืองระยะเวลา 4 ปีอาจจะไม่นิ่ง แต่ถ้าพรรคก้าวไกลสามารถเป็นพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำฯ ได้ ก็จะเป็นความสวยงามของการเมืองไทยที่ทุกฝ่ายสามารถจะลงมาประนีประนอมพูดคุยกันได้ ในขณะที่ สว.เองก็ต้องพิจารณาถึงประเทศชาติเป็นหลักด้วย เพราะวันนี้เราต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพพอสวมควร และได้รับการยอมรับจากหลายๆ ฝ่าย ซึ่งการยอมรับหมายถึงเสียงจากภาคประชาชนด้วย

นายหัสดิน กล่าวถึงความต้องการภาคเอกชนว่า ยังเรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้เร็วที่สุด และรัฐบาลจะต้องมีความประนีประนอมและมีเสถียรภาพ เพื่อทำให้การเมืองเดินหน้าต่อไปได้ เพราะถ้าได้รัฐบาลเร็ว อาจจะพิจารณางบประมาณปี 2567 ได้ทัน แต่ถ้าได้รัฐบาลใหม่ช้า เนิ่นนานออกไปอีก ก็จะยิ่งทอดเวลาทำให้ต้องใช้งบของปี 2566 ไปก่อน ซึ่งตอนนี้เศรษฐกิจไทยกำลังอ่อนแอ ภาคการส่งออกติดลบ ภาคการท่องเที่ยวอาจจะดูดีขึ้น แต่ถ้ามีการประท้วงรุนแรง ภาคการท่องเที่ยวก็จะแย่ลง ดังนั้นการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็วและมีเสถียรภาพด้วยจึงมีความสำคัญกับภาคเศรษฐกิจอย่างมาก

นักลงทุนกำลังรอดูสถานการณ์อยู่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ถ้าการเมืองวุ่นวาย นักลงทุนก็คงจะทอดเวลาชะลอการลงทุนต่อไป ยกเว้นการลงทุนบางโครงการที่เริ่มไปแล้วก็คงจะต้องเดินหน้าต่อ แต่ส่วนอื่นๆ ที่กำลังจะเดินทางเข้ามา โดยเฉพาะประเทศจีนที่จำเป็นจะต้องย้ายฐานการผลิตบางส่วนมายังภูมิภาคอาเซียน เพราะถูกต่อต้านจากตลาดโลกเรื่องการทุ่มตลาดของจีน ในตอนนี้มีอยู่ 4-5 ประเทศที่เป็นเป้าหมายของจีน ดังนั้นถ้าเรายังทอดเวลาไม่ได้รัฐบาลใหม่และไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองสักที นักลงทุนทั้งจากจีนและประเทศอื่นๆ ก็จะประวิงเวลาออกไป ทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสไปด้วย

ส่วนเรื่องแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถ้าเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน ตนมองว่าเป็นเงื่อนไขที่ดี เพราะมีความเข้าใจระบบเศรษฐกิจมากกว่า แต่เงื่อนไขของประเทศไทยไม่ได้ขึ้นอยู่เฉพาะเรื่องนี้เท่านั้น แต่การเมืองจะต้องประนีประนอม และมีความสงบได้ด้วย เพราะวันนี้ สว.ยังมีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตนจึงอยากเห็นภาพที่พรรคก้าวไกลยังคงร่วมจัดตั้งรัฐบาลและดึงพรรคการเมืองมาเพิ่มสัก 2 พรรคเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้เปลี่ยนตัวจากพรรคก้าวไกลไปเป็นพรรคเพื่อไทยแล้ว พร้อมจะสนับสนุนจาก สว.บางส่วนเพิ่มขึ้นอีก ก็จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ได้รับสนับสนุนในสภาฯ เกิน 375 เสียง ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลสามารถเดินหน้าต่อไปได้

...

ส่วนใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้นตนยอมรับได้ ห่วงแค่เรื่องเสถียรภาพทางการเมืองเท่านั้น เพราะวันนี้ระบบเศรษฐกิจของประเทศกำลังแย่ แนวคิดแก้ไขระบบเศรษฐกิจแบบสุดโต่งของบางพรรคจึงอาจจะไม่เหมาะสม ซึ่งหากเป็นนายกรัฐมนตรีเป็น นายเศรษฐา ก็จะมีความเข้าใจระบบเศรษฐกิจมากกว่า จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกับภาวการณ์ขณะนี้ แต่อย่างไรก็ตามการที่จะได้เสียงจาก สว. 60 กว่าคนมาสนับสนุนเพิ่มก็เป็นไปได้ยาก ดังนั้นการดึงพรรคอื่นๆ สัก 1-2 พรรคเข้ามาร่วม บวกกับดึงเสียง สว.เข้ามาเพิ่มอีก ก็เชื่อว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในไม่ช้า นายหัสดิน กล่าว.