กรณีวิกฤติปูทะเลขาดแคลน หวั่นกระทบท่องเที่ยวจันท์ โดยเฉพาะโฮมสเตย์ที่ชูเป็นจุดขาย ล่าสุดสถานการณ์ปูทะเล ปูดำกลับมาปกติหลังเข้าหน้าฝนเป็นโลว์ซีซั่น เผยเริ่มมีเพาะเลี้ยงปู แก้ปัญหาขาดแคลน แต่ต้นทุนสูงกว่าจับตามธรรมชาติ

เมื่อวันที่ 11 ก.ค.66 ผู้สื่อข่าวได้สำรวจพื้นที่เพาะเลี้ยงและจำหน่ายปูทะเล โดยเฉพาะปูดำ-ปูขาว ในพื้นที่ อ.ขลุง และ อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี หลังจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้แทนเกษตรกร และผู้แทนภาคเอกชน ด้านการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าพบ นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผวจ.จันทบุรี หลังปัญหาเรื่องสัตว์ทะเล เช่น ปูดำ ประสบภาวะขาดแคลนไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมา จ.จันทบุรี จากการเปิดแคมเปญจุดขายการท่องเที่ยว “กินปู ดูเหยี่ยว อิ่มไม่อั้น” จึงส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะโฮมสเตย์ในพื้นที่ อ.แหลมสิงห์ และ อ.ขลุง แต่ปริมาณของอาหารทะเล ที่ชาวบ้านและชาวประมง หาได้จากธรรมชาติรวมไปถึงเพาะเลี้ยงมีไม่เพียงพอ จนเกือบกระทบต่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ต้องจ่ายแพ็กเกจกับทางโฮมสเตย์แบบเหมาเป็นรายหัว ทั้งการค้างคืน กิจกรรมทางน้ำ และการทานอาหารทะเลสด

...

ที่จุดสถานที่รับซื้อปูทะเล บริเวณถนนเทศบาลสาย 3 อ.ขลุง  โดย นายเดชา สุขาล ผู้ประกอบการสถานที่รับซื้อปู กล่าวว่า ในระยะนี้เข้าสู่หน้าฝน ปูดำ ราคาจะถูกลง เนื่องจากปูออกมาจากรูในพื้นที่อาศัยป่าโกงกาง และพากันออกสู่ทะเลจำนวนมาก เนื่องจากฝนที่ตกลงมา ทำให้น้ำตามแหล่งที่ปูอาศัยมีค่าความเค็มน้อยลง และหน้าฝนก็จะเป็นช่วงโลว์ซีซั่นส์ ปริมาณนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาน้อยลง ทำให้ราคาปูลดลงมากจากเดิมที่ขายอยู่กิโลกรัมละ 600-800 บาท ลดลงตามขนาด ตอนนี้เฉลี่ยราคาอยู่ที่กิโลกรัม 280-300 บาท และปริมาณปูดำขณะนี้มีเพียงพอ ไว้รองรับภาคการท่องเที่ยวแน่นอน

เช่นเดียวกับพื้นที่ ต.หนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์  ที่เป็นแหล่งหาจับปูดำตามธรรมชาติ และเพาะเลี้ยงปูดำหลัก สถานการณ์ ปูดำ ราคาถูกก็ไม่แตกต่างไปจากพื้นที่ อ.ขลุง ซึ่งชาวบ้านที่ทำอาชีพเลี้ยงปู รับซื้อและจำหน่าย บอกว่า ถือว่าเป็นธรรมดาของกลไกตามท้องตลาด ที่ผ่านมาทุกปี ความต้องการซื้อปูมาก ราคาก็จะแพง เมื่อคนซื้อปูน้อยลงในช่วงหน้าฝน ราคาปูก็จะถูกลง ถือว่า ชาวบ้านที่ชอบกินปูก็ได้กินราคาถูก ที่ปูมีช่วงราคาแพงสูงจนถึงกิโลกรัมละ 600-800 บาท เนื่องมาจากบางเดือน เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวไฮซีซั่น นักท่องเที่ยวก็จะเข้ามามาก และเมนู ปูกับกุ้ง ก็ได้รับความนิยมเป็นหลักอยู่แล้ว ทำให้ราคากระโดดขึ้นไปถึง 2 เท่าตัว โฮมสเตย์แต่ละแห่ง ก็จะพากันแย่งซื้อปูไปรองรับนักท่องเที่ยว

แต่ในช่วงหน้าฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ไปจนถึงปลายเดือนกันยายน ราคาปูดำก็จะถูกลง เหลือเพียงกิโลกรัมละ 300 บาทโดยประมาณ แล้วแต่ขนาด และขณะนี้ ปริมาณปูดำกลับมามีมาก แต่สวนทางกลับยอดนักท่องเที่ยวที่ลดลงในช่วงหน้าฝน ราคาจึงถูกลงตามกลไกธรรมชาติ 

ด้าน นายมณี รัตนสร้อย ประธานชมรมผู้ประกอบการโฮมสเตย์ แหลมสิงห์  บอกว่า วิกฤติปูดำขาดตลาดไม่เพียงพอแก่การบริโภคของนักท่องเที่ยวที่มาเยือน จนกระทั่งผู้ประกอบการ ต้องหาซื้อปูต่างถิ่นมารองรับผู้บริโภคในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ขณะนี้ เข้าสู่ฤดูฝน ปูธรรมชาติในแม่น้ำ ลำคลองได้ออกมาเจริญเติบโต และมีชาวบ้านดักลอบจับปูธรรมชาติมาจำหน่ายได้เยอะขึ้น อีกทั้งทางผู้ประกอบการ ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง และชาวบ้าน หาทางรวมกลุ่มกันเพาะเลี้ยงปูดำ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวทำให้มีปริมาณปูดำในจังหวัด เพียงพอแก่การรองรับด้านการท่องเที่ยว ที่ต้องการใช้ปูดำในช่วงวันหยุดประมาณ 8,000-10,000 ตัว ต่อวัน

...

ประธานชมรมผู้ประกอบการโฮมสเตย์ แหลมสิงห์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การเพิ่มปริมาณผลผลิตปูดำคุณภาพ ให้ชาวบ้านและเกษตรกร ได้นำไปเลี้ยงในราคาต้นทุนลูกปูที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันยังถือว่าราคาลูกปูยังมีราคาสูง และอัตราการเลี้ยงให้รอดยังน้อย และควบคุมให้อยู่ตามธรรมชาติในพื้นที่จำกัดได้ยาก ซึ่งต้องใช้ต้นทุนที่สูงมาก เกษตรกรขาดความมั่นใจในการเพาะเลี้ยง จึงนิยมใช้วิธีหาจับปูธรรมชาติตามมาขายแทน.