วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงหมู่บ้านห้วยน้อย นำเอาปลาดุกที่เกษตรกรเพาะเลี้ยงไว้ มาแปรรูปเป็นน้ำพริกปลาดุกสองแดด ปลาดุกตากแห้ง ส่งขายสร้างรายได้ให้กับสมาชิกอย่างมั่นคง มีรายได้สู่ครอบครัวเพิ่มทุกเดือนทำให้สมาชิกพอใจ ชูอร่อย สะอาด ปราศจากสารกันบูด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงหมู่บ้านห้วยน้อย เลขที่ 22/1 หมู่ที่ 4 ตำบลมหาชัย อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร สมาชิกกลุ่มเกษตรกรกำลังขะมักเขม้นกับการแปรรูปน้ำพริกปลาดุกสองแดด บรรจุภัณฑ์ส่งขายตามยอดสั่ง ซึ่งสมาชิกในกลุ่มแบ่งหน้าที่กันทำอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่กระบวนการเตรียมเครื่องวัตถุดิบ หั่นปลา ทอด บด จนมาสู่กระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์ เน้นความสะอาด ใส่ใจรสชาติความอร่อย เก็บไว้ได้นานถึง 3 เดือน ไม่ใส่สารกันบูด
สำหรับน้ำพริกถือว่าเป็นเครื่องชูรส จัดไว้ในสำรับกับข้าว โดยน้ำพริกกระปุกสำเร็จรูป เป็นทางเลือกหนึ่งที่ง่ายสะดวกในการรับประทาน ทางกลุ่มเริ่มผลิตมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคด้วยดี จำหน่ายหมดแล้วเริ่มผลิตใหม่ สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นทุกเดือนอย่างเป็นที่น่าพอใจ ในส่วนกระบวนการผลิตน้ำพริกปลาดุกสองแดด นอกจากรสชาติที่อร่อยแล้ว ทางกลุ่มคำนึงถึงความสะอาดและความปลอดภัยเป็นหลัก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่มาอุดหนุน จึงคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพ เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำพริกปลาดุกสองแดดให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
...
ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงหมู่บ้านห้วยน้อย ได้เพาะเลี้ยงปลาดุกอยู่แล้ว มีรายได้จากการขายปลาดุกให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อหน้าบ่อ โดยระยะ 3 เดือนจะจับขายมีรายได้สู่ภาคครัวเรือน เพื่อสร้างมูลค่าจากฐานทรัพยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้ต่อยอดให้มีรายได้เพิ่มยิ่งขึ้น มีการนำปลาดุกมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น นำปลามาชำแหละและตากแห้ง เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา มีการนำปลาดุกไปแปรรูปเป็นกุนเชียงปลาดุก และปลาดุกร้า น้ำพริกปลาดุกสองแดด เป็นต้น
นายวิเชียร เชียงทอง ประธานกรรมการ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงหมู่บ้านห้วยน้อย เปิดเผยว่า ทำการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2540 เดิมเกษตรกร ตำบลมหาชัย ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่เนื่องจากทำนาแล้วขาดทุน เกิดหนี้สินเป็นจำนวนมากทางกลุ่มจึงได้มีความคิดริเริ่ม เปลี่ยนมาเริ่มเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด (ปลาดุกรัสเซีย) โดยใช้อาหารสำเร็จรูปที่มีจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาดนำมาเพาะเลี้ยงปลา แต่เนื่องด้วยมีต้นทุนการผลิตที่สูงมาก จึงมีการทดลองใช้เศษไก่ และโครงไก่จากโรงงานชำแหละมาเป็นอาหารปลา พบว่าสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ดีมาก แต่ถ้าจะซื้อให้ได้ในราคาที่ถูกจะต้องซื้อทีละมากๆ ทำให้เกษตรกรขาดแคลนเงินทุนในการซื้อ เกษตรกรหมู่บ้านห้วยน้อย จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มขึ้นมา เพื่อรวมตัวกันซื้อเศษไก่จากโรงชำแหละมาเพาะเลี้ยงปลา.
...