จ.เชียงราย ร่วมกับภาคเอกชนผลักดันโครงการ รถตุ๊กๆ พลังงานไฟฟ้า 100% โดยนำรถเก่าดัดแปลงเป็นรถไฟฟ้า หวังรัฐสนับสนุนลดการใช้แก๊สและน้ำมัน ลดปัญหามลพิษ ฝุ่น PM2.5 ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย

เมื่อวันที่ 28 ก.พ.66 นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในการเปิด สถานีประจุ/สลับแบตเตอรี่ สำหรับรถพลังงานไฟฟ้า ณ ศรีบุญเรืองคาร์แคร์ แอนด์ เซอร์วิส ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย โดยได้รับเกียรติจาก พล.ต.สมเจตตะ ภักดีบรรดิษ ผบ.มทบ.34 จ.พะเยา และ นางสายธาร ประสงค์ความดี พลังงานจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานราชการ เอกชน ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

ดร.รัตน์ธนวัตร พุทธจันทร์ หรือ ดร.โจ หัวหน้าโครงการดัดแปลงรถยนต์สามล้อเก่าเป็นรถพลังงานไฟฟ้า (รถตุ๊กๆ พลังงานไฟฟ้า) กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารพระจอมเกล้า ลาดกระบัง เป็นผู้วิจัยและพัฒนาอุปกรณ์การชาร์จและแอปพลิเคชันในการใช้งานร่วมกัน และจังหวัดเชียงรายถือเป็นจังหวัดนำร่องในการใช้งาน โดยจะมีต้นทุนในการดัดแปลงรถสามล้อเครื่อง หรือรถตุ๊กๆ (รย.8) ที่มีสภาพที่สามารถใช้งานได้จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1.3-1.4 แสนบาทต่อคัน การใช้งานจะมีต้นทุนประมาณ 0.07 สต./กม. ในระยะทาง 100 กม. จะมีค่าใช้จ่ายในการชาร์จไฟฟ้าประมาณ 7 บาท/ครั้ง ส่วนระยะเวลาในการชาร์จจะแบ่งเป็น 3 แบบ ได้แก่ แบบชาร์ตเร็ว (Quick Charge) ใช้เวลาประมาณ 2 ชม. ชาร์จปกติ (Normal Charge) ใช้เวลาประมาณ 4 ชม. และแบบ Swab Batterry คือ การยกแบตเตอรี่ที่อยู่ในรถออกสลับกับแบตเตอรี่ที่ชาร์จอยู่ในตู้ แบบนี้จะใช้เวลาไม่ถึง 5 นาทีก็ออกไปวิ่งต่อได้ทันทีอีก 100 กิโลเมตร

...

หัวหน้าโครงการดัดแปลงรถยนต์สามล้อเก่าเป็นรถไฟฟ้า กล่าวต่อว่า ส่วนประกอบสำคัญของรถตุ๊กๆ ไฟฟ้าที่ได้รับการพัฒนา มีทั้งหมด 3 ส่วน ประกอบด้วย ระบบควบคุมหรือคอนโทรลเลอร์ แบตเตอรี่ ในโครงการจะใช้แบบ 72 โวลต์ 100 Ah และมอเตอร์ในการขับเคลื่อน จะเป็นแบบ DC 72 โวลต์ 8,000 w. โดยมีระบบเกียร์ 2 แบบ คือ เกียร์ปกติ วิ่งทำความเร็วได้ 70 กม./ชม. ส่วนเกียร์สโลว์ ใช้สำหรับบรรทุกของหนัก ติดหล่ม ขึ้นเนิน จะสามารถวิ่งได้ 35 กม./ชม. อุปกรณ์การชาร์จที่ติดกับรถเป็นแบบ Normal Charge สามารถชาร์จไฟบ้าน 220 โวลต์ ได้ จะใช้เวลาในการชาร์จประมาณ 4 ชม.

"อยากให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงรถตุ๊กๆ เป็นระบบไฟฟ้า เพราะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ประมาณคันละ 1.3-1.4 แสนบาท ถือเป็นต้นทุนที่สูง แต่กลุ่มอาชีพนี้จะเป็นกลุ่มคนที่หาเช้ากินค่ำ ถ้ามีหน่วยงานที่มาช่วยผลักดันสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือเจ้าของรถ ไม่ว่าจะเป็น 50% หรือ 80% เพื่อสนับสนุนให้ผู้ขับขี่รถตุ๊กๆ ที่ใช้ระบบแก๊สหรือน้ำมัน เปลี่ยนมาใช้ระบบไฟฟ้าทั้งหมด ลดปัญหากลิ่น เสียง ฝุ่นควัน PM 2.5 ก็จะเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ขับขี่ได้ และยังถือเป็นการช่วยผลักดันการใช้พลังงานสะอาด โดยจากข้อมูลปัจจุบันจังหวัดเชียงรายมีรถตุ๊กๆ ทั้งหมด 154 คัน และมีรถที่เข้าร่วมโครงการในระยะแรกจำนวน 5 คัน และจะมีรถที่จะร่วมโครงการในระยะที่ 2 อีกจำนวน 10 คัน รวมเป็น 15 คันในอนาคตอันใกล้นี้ ในอนาคตเราก็อยากจะขยายจุดบริการชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมตามจุดที่มีรถตุ๊กๆ ร่วมโครงการ เพื่อจะสามารถใช้บริการนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัดได้" ดร.รัตน์ธนวัตร กล่าว

...

ด้าน นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย กล่าวว่า ต้องขอชื่นชมต่อชมรมผู้ขับรถตุ๊กๆ ไฟฟ้ารับจ้าง จ.เชียงราย และผู้เกี่ยวข้อง ที่ได้เข้าร่วมโครงการดัดแปลงรถตุ๊กๆ ที่ใช้พลังงานน้ำมันและแก๊สมาเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในจังหวัดเชียงราย ตามแนว Chiangrai go green ด้วยพลังงานสะอาด โดยสถานีประจุไฟฟ้านี้จะมีการติดตั้งชุดอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้การชาร์จรถตุ๊กๆ ไฟฟ้าเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

...

นายก อบจ.เชียงราย กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศอันถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Chiangrai go green ที่เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการใช้พลังงานที่เป็นมลพิษและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านคุณภาพอากาศ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวเชียงราย ตลอดจนเพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาการใช้พลังงานสะอาดให้เป็นไปอย่างยั่งยืนในอนาคต และยังช่วยส่งเสริมการเข้าถึงของรถไฟฟ้าในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของสังคมในปัจจุบันอีกด้วย.