กรมประมงทำโครงการธนาคารสายพันธุ์ปลานิลจิตรลดาจากเกษตรกรสู่เกษตรกร แจกพันธุ์ให้ไปเลี้ยง ส่งคืนลูกปลาส่วนหนี่งมาให้เพื่อนบ้านเลี้ยงต่อ เพื่อตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงห่วงใยคนไทย อยากให้มีอาหารโปรตีนจากสัตว์น้ำไว้บริโภค...

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 1 พ.ย.59 นางสาวจินตนา ดำรงไตรภพ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดชลบุรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2509 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานปลานิลจิตรลดาให้กรมประมง เพื่อนำไปขยายพันธุ์เพื่อส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศ

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในปี 2559 กรมประมงจึงได้จัดทำโครงการธนาคารสายพันธุ์ปลานิลจิตรลดาจากเกษตรกรสู่เกษตรกรขึ้น เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใย โดยต้องการให้คนไทยมีอาหารโปรตีนจากสัตว์น้ำไว้บริโภค

"กรมประมง มีเป้าหมายให้เกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกได้รับปลานิลสายพันธุ์จิตรลดาจากกรมประมง จำนวน 890 ราย รายละ 50 คู่ ซึ่งเป็นสายพันธุ์แท้จากสวนจิตรลดา นำไปเลี้ยงไว้บริโภคในครัวเรือน และลูกพันธุ์ที่เกิดขึ้นในบ่อเลี้ยง ส่วนหนึ่งส่งกลับคืนให้กรมประมง เพื่อเป็นธนาคารสายพันธุ์ปลานิลจิตรลดา และอีกส่วนหนึ่งแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านนำไปเลี้ยงต่อไป เป็นการขยายเครือข่ายจากเกษตรกรสู่เกษตรกรอย่างยั่งยืน"

...

นางสาวจินตนา กล่าวต่อว่า ในส่วนสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดและศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ของกรมประมงทั้ง 59 แห่ง ทั่วประเทศ จะเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกเกษตรกรในพื้นที่ให้มารับปลานิลสายพันธุ์จิตรลดาไปเลี้ยง ซึ่งในส่วนของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดชลบุรีจะนำปลานิลจิตรลดาที่เพาะเลี้ยงจนได้ขนาด มอบให้เกษตรกรในพื้นที่ 10 ราย รายละ 50 คู่ เพื่อนำไปเพาะเลี้ยงต่อไป นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานปลานิลจิตรลดาให้กรมประมง เพื่อนำไปขยายพันธุ์แล้วมอบให้เกษตรกรนำไปเพาะเลี้ยงไว้บริโภคในครัวเรือนและขยายพันธุ์ส่งต่อเกษตรกรรุ่นต่อไป.