จนท.รัฐนั่งหัวโต๊ะ ถกทางออกแก้ปัญหาระหว่างชาวสวนลำไย กับล้งไทย-จีน ที่จันทบุรี หลังเจอปัญหาเรื่องสัญญาทับซ้อน ระยะเวลาการเก็บผลผลิตไม่ชัดเจน หวั่นส่งผลกระทบต่อการส่งออก

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 59 นายพีรณัฐ รัตนวรโอภาส นายอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี นาวาเอกจาริก พัวพานิช รอง ผอ.กอ.รมน.จันทบุรี นาวาเอกทวี วงศ์วาน ผบ.หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จันทบุรี นายพงษ์ศักดิ์ หลิวทวีสีประกาย นายกสมาคมชาวสวนลำไย ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหาแนวทางแก้ปัญหา ระหว่างชาวสวนลำไยกับผู้ประกอบการล้งรับซื้อลำไย

สืบเนื่องจากเกษตรกรสวนลำไย ได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรม เช่น การกำหนดระยะเวลาการเก็บผลผลิตไม่ชัดเจน ทำสัญญาทับซ้อน ซึ่งทางสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ ช่วยเหลือทางกฎหมายและบังคับคดี ไม่สามารถทำแบบสัญญาซื้อขายลำไยที่เป็นกลางได้ เนื่องจากเป็นนิติกรรมระหว่างเอกชนกับเอกชน

ทั้งนี้ สถานการณ์การซื้อขายลำไยของจันทบุรี พื้นที่ปลูกลำไย ประมาณ 140,000 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยวประมาณ 130,000 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 2,000 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 8,000 ล้านบาท ช่วงเดือนเก็บเกี่ยวประมาณเดือน ม.ค.-ธ.ค. ลักษณะการซื้อขายลำไยเป็นการซื้อล่วงหน้า โดยมีผู้ค้า (ล้ง) เข้าไปรับซื้อถึงสวน สำหรับปี 2558 ยังคงมีการซื้อขายล่วงหน้า เฉลี่ยทำสัญญากันที่กิโลกรัมละ 35-40 บาท ทั้งนี้ เป็นไปตามคุณภาพ เริ่มตั้งแต่เบอร์ 1-4

...

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันล้งที่รับซื้อลำไย มีทั้งเจ้าของที่เป็นคนไทย และคนจีน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นล้งของคนจีนที่รับซื้อ ที่ผ่านมา 2 ปี มีลักษณะการฟ้องร้องกันในเรื่องการขายผลผลิต ได้แก่ เกษตรกรที่ขายลำไยให้แก่ล้ง ซึ่งเกษตรกรรายเดียวขายให้แก่ล้งหลายรายซ้ำซ้อนกัน ขณะที่ ผู้เช่าสวนได้นำใบเช่าไปขายให้แก่ล้งหลายแห่งซ้ำซ้อน

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาระหว่างเกษตรกรกับล้งลำไย ซึ่งได้ทำสัญญาตกลงซื้อขายกัน ซึ่งในสัญญาส่วนใหญ่จะระบุว่า เกษตรกรจะเป็นผู้ดูแลสวนลำไย ให้ผลผลิตมีคุณภาพ ตามเกรดที่กำหนดไว้ ราคาตามฤดูกาลที่ราดสารลำไย แต่มีปัญหาในเรื่องการเก็บลำไย พบว่า บางช่วงลำไยออกดอกไม่พร้อมกันแต่ละแปลง เมื่อล้งมาเก็บลำไย จะเลือกเก็บเฉพาะเบอร์ใหญ่ เหลือผลผลิตลำไยเบอร์เล็ก ไม่กลับมาเก็บอีก ทำให้มีผลผลิตตกค้างอยู่ในสวน ขณะเดียวกัน เกษตรกรบางสวน ทำผลผลิตลำไยไม่ได้คุณภาพ ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาสภาพอากาศ และปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ทำให้เกิดข้อพิพาทล้งไม่ไปเก็บลำไย

นอกจากนี้ ปัญหานายหน้าที่รับซื้อ ทำสัญญาซื้อขายให้แก่ล้งคนจีน โดยไปทำสัญญาเป็นผู้ซื้อตัวแทนล้งคนจีน มาซื้อลำไยเป็นจำนวนมาก และมีการผิดสัญญา โดยมีการกล่าวอ้างว่านายหน้าคนไทยโกงเงินล้งคนจีน โดยไปเก็บลำไยเอง และไม่ส่งมอบให้คนจีน หรือส่งมอบให้ไม่ครบตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ จากยอดเงินที่รับไว้ล่วงหน้า ส่งผลถึงเกษตรกรที่ทำสัญญากับผู้ซื้อคนไทย เพราะบางรายก็มีการเปลี่ยนสัญญาใหม่กับล้งคนจีนโดยตรง ถึงเวลาเก็บลำไยก็มีการแย่งกันเก็บลำไยระหว่างนายหน้า และล้งคนจีน ทำให้เกิดข้อพิพาทกันขึ้น

ด้านผู้แทนสำนักงานอัยการ จ.จันทบุรี กล่าวถึงปัญหาหรือแนวทางในการดำเนินคดีเกี่ยวกับลำไย ซึ่งสามารถแยกได้ 5 รูปแบบ คือ 1. เกษตรกรชาวสวนขายให้แก่ล้งหลายล้ง 2. ผู้เช่าสวนขายให้แก่ล้งหลายล้ง 3. เกษตรกรชาวสวนไม่มีสวนลำไยของตนเอง แต่กล่าวอ้างเท็จต่อล้งโดยไปชี้สวนคนอื่นให้ล้งดู 4. นายหน้านำสัญญาซื้อไปขายให้แก่ล้งหลายล้ง 5. คนไทยเป็นนอมินีของล้งคนจีน ได้นำเงินของคนจีนมาล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ส่งมอบลำไยให้ตามข้อตกลง

ทั้งนี้ สมาคมชาวสวนลำไย จ.จันทบุรี ได้ชี้แจง และแนะนำวิธีแก้ปัญหาระหว่างชาวสวนกับผู้ประกอบการล้งในการทำสัญญาซื้อ-ขาย ควรระบุชื่อผู้ซื้อ-ขาย พร้อมเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก และระบุชื่อล้งไปด้วย นอกจากนั้น ในสัญญาซื้อขายต้องระบุเลขทะเบียนการค้าของล้งด้วย และตั้งกรรมการของสมาคมฯ เพื่อเป็นคนกลางที่คอยดูแลแก้ปัญหาระหว่างล้งกับเกษตรกร