แต่นามสกุลเจียรวนนท์
ปัดซีพีไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นเจ้าของที่ดินและนากุ้ง ที่บุกรุกป่าสงวนฯ จ.ตราด ขณะที่ชุดปฏิบัติการฉลามขาว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยคนพื้นที่เรียกที่ดินผืนนี้ติดปากว่า “ของซีพี” ขณะเดียวกันตรวจสอบโฉนดที่ดินตระกูลดัง “เจียรวนนท์” ออกโดยมิชอบบุกรุกป่าสงวนฯป่าท่าโสม จ.ตราด แล้ว 1 แปลงจากทั้งหมด 6 แปลง เร่งพิสูจน์แปลงที่เหลือ หลังยึดนากุ้ง อู่ซ่อมเรือ ปั๊มน้ำมัน เตรียมใช้มาตรา 25 รื้อถอน ขณะที่อธิบดี ทช.ระบุเป็นการทวงคืนผืนป่าตามนโยบายรัฐบาล ด้านคดีบุกรุกป่าสงวนฯ จ.กระบี่ ทำหนังสือถึง ผบ.ตร.ขอโอนคดีมาส่วนกลางหวั่นอิทธิพล
กรณีชุดปฏิบัติการฉลามขาว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบบ้านเลขที่ 79 หมู่ 4 ต.ท่าโสม อ.เขาสมิง จ.ตราด ซึ่งมีท่าเทียบเรือที่สามารถจอดเทียบเรือยอชต์ได้หลายลำ ขณะที่บริเวณบ้านยังมีอู่ซ่อมเรือและลานจอดเฮลิคอปเตอร์ โรงไม้ สิ่งปลูกสร้างอีกจำนวนหนึ่งและบ่อกุ้ง ที่บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าโสม ก่อนจะตรวจยึดและแจ้งความดำเนินคดีกับนายอนันต์ สว่างไสว ผู้จัดการท่าเทียบเรือและนายชัยวัฒน์ ถนอมพันธ์ ที่แสดงตนยอมรับว่าครอบครองพื้นที่ จากการตรวจสอบเอกสาร ทราบต่อมาว่าที่ดินดังกล่าวบางส่วนมีชื่อของคุณหญิงเอื้อปราณี เจียรวนนท์ ภรรยานายจรัญ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี เป็นเจ้าของนั้น
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่กระทรวงทรัพยากรฯ น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า การจับกุมดำเนินคดีการบุกรุกป่าสงวนฯ ที่ จ.ตราด เป็นการบังคับใช้กฎหมายของกรม เพื่อทวงคืนผืนป่าตามนโยบายของรัฐบาล โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าผู้ที่ครอบครองที่ดินจะมาจากตระกูลใด แต่เมื่อทำผิดก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน กรณีดังกล่าวผู้ที่ครอบครองโฉนดที่ดิน มีพื้นที่ในโฉนดน้อยกว่าพื้นที่ใช้ประโยชน์จริง ได้ประสานกับกรมที่ดินในการตรวจสอบ ขณะที่ผู้แสดงตัวว่าครอบครองพื้นที่ก็มีการแจ้งความดำเนินคดี ส่วนผู้ครอบครองโฉนดที่ดินที่เป็นคนตระกูล เจียรวนนท์ ก็ต้องมีการตรวจสอบภายใต้กฎหมายเดียวกัน
...
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลฯกล่าวต่อว่า พื้นที่ป่าชายเลนที่ผ่านมา ถูกบุกรุกอย่างมาก เดิมประเทศไทยมีมากถึง 2.3 ล้านไร่ ปัจจุบันเหลือเพียง 1.53 ล้านไร่ แสดงให้เห็นว่า ช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ไทยสูญเสียไปกว่า 7.7 แสนไร่ พื้นที่ป่าชายเลนส่วนใหญ่ถูกบุกรุกทำนากุ้ง เช่น จ.ตราด จันทบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี เป็นต้น ดังนั้น กรมจะรักษาพื้นที่ป่าชายเลนที่เหลืออยู่ 1.53 ล้านไร่ให้คงอยู่ให้ได้
ด้านนายรัชชัย พรพา หัวหน้าชุดปฏิบัติการฉลามขาว กล่าวว่า ที่ดินที่เข้าตรวจสอบเมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่เป็นของคนในตระกูลเจียรวนนท์ เป็นการตรวจสอบตามโฉนดของกรมที่ดิน กรมทรัพยากรทาง ทะเลฯ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หลังมีการร้องเรียนจากประชาชนว่า มีกลุ่มนายทุนทำนากุ้งบุกรุกป่าสงวนฯ ป่าท่าโสม จึงตรวจสอบโฉนดผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าว พบว่าเป็นของนายจรัญ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณหญิงเอื้อปราณี เจียรวนนท์และนางนุชนารถ เจียรวนนท์ รวม 7 แปลง เป็นโฉนด 6 แปลง และ นส.3 จำนวน 1 แปลง ขณะนี้ได้ตรวจสอบโฉนดและการใช้ประโยชน์จากที่ดินจริง จากการเดินพิสูจน์ พบว่ามี 1 แปลงที่บุกรุกป่าสงวนฯ ป่าท่าโสมและมีการออกโฉนดโดยมิชอบ ส่วนโฉนดที่เหลือ กำลังสำรวจคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ส่วนพื้นที่ที่มีการจับกุมคือ นากุ้ง อู่ซ่อมเรือ และปั๊มน้ำมัน ตามกฎหมายต้องรื้อถอนทุบทิ้ง ทั้งนี้ ต้องรอเจ้าของมาแสดงตัว หากไม่มาก็สามารถใช้มาตรา 25 เพื่อรื้อถอนได้ทันที ขณะที่ในส่วนของท่าเทียบเรือ กำลังเร่งพิสูจน์ร่วมกับกรมเจ้าท่าว่าอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนหรือไม่ หากพบว่าอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติก็ต้องรื้อถอน
นายรัชชัยกล่าวต่อว่า การเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ดังกล่าว เป็นการดำเนินการต่อเนื่อง ไม่ได้เลือกปฏิบัติ คนในพื้นที่ก็รู้กันดีว่าเป็นพื้นที่ของใคร แล้วเรียกกันติดปากว่าเป็นของบริษัทซีพี แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ พื้นที่ดังกล่าวตามโฉนดเป็นของนายจรัญ หนึ่งในผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพื้นที่ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตรวจสอบมีทั้งหมด 6 แปลง เป็นชื่อของนายจรัญ เจียรวนนท์ 1 แปลง โฉนดเลขที่ 16810 เนื้อที่ 4.99 ไร่ และมี นส.3 จำนวน 1 แปลง เลขที่ 121/112 เนื้อที่ 2 ไร่ เป็นโฉนดของคุณหญิงเอื้อปราณี เจียรวนนท์ 4 แปลง โฉนดเลขที่ 16702, 16703, 16811, 16816 เนื้อที่ 42.87 ไร่ เป็นของนางนุชนารถ เจียรวนนท์ บุตรสาว 1 แปลง โฉนดเลขที่ 16701 เนื้อที่ 6.1 ไร่
วันเดียวกัน นายอนันต์ สว่างไสว ผู้จัดการท่าเทียบเรือในพื้นที่ที่ถูกตรวจสอบ เปิดเผยว่า ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากชาวบ้านเมื่อประมาณปี 2538 ได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อน โดยมีการขุดเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งทั้งแปลงก่อนที่จะซื้อมา ไม่มีสภาพเป็นป่าแต่อย่างใด ทราบจากเจ้าของเดิมว่าที่ดินแปลงนี้ แจ้งครอบครอง (ส.ค.1) ถูกต้องตรงตามตำแหน่งไว้แล้ว ตนเห็นว่าพื้นที่นี้เหมาะกับการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งเป็นอาชีพของตน จึงซื้อไว้และแบ่งพื้นที่บางส่วนทำเป็นอู่ซ่อมเรือ (คานเรือ) ทั้งนี้ หากตรวจสอบพบว่าที่ดินดังกล่าวบุกรุกที่ป่าสงวนฯจริง ก็ยินดีที่จะคืน ให้กับทางราชการ
ด้านนายชัยวัฒน์ ถนอมพันธุ์ เปิดเผยว่า เป็นคนในพื้นที่บ้านอ่างกระป่อง จ.ตราด มีอาชีพทำฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ซื้อที่ดินแปลงที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่า มาจากชาวบ้านในพื้นที่ในช่วงปี 2538-2539 เนื่องจากได้รับทราบว่ามีผู้จะขายที่ดินที่เป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ เห็นว่าเหมาะกับการเลี้ยงกุ้ง จึงตัดสินใจซื้อ ในขณะนั้นก็ไม่ปรากฏสภาพเป็นป่าแต่อย่างใด พร้อมทั้งทราบมาว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวได้มีการแจ้งครอบครอง (ส.ค.1) ไว้ด้วย จึงตัดสินใจซื้อ ปัจจุบันได้ทำเป็นบ่อกุ้ง 3 บ่อ หากตรวจสอบพบว่าที่ดินดังกล่าวบุกรุกที่ป่าสงวนฯจริง ก็ยินดีที่จะคืนให้กับทางราชการเช่นเดียวกัน
...
นายศักดา วิเชียรศิลป์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ได้ทำหนังสือถึง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เพื่อขอให้รับโอนคดีด้านป่าไม้ให้กับพนักงานสอบสวนกลางดำเนินการในคดีที่กรมได้ตรวจสอบและจับกุมผู้กระทำผิดบุกรุกป่าชายเลน เมื่อวันที่ 28-30 มิ.ย. จำนวน 3 คดี ได้แก่ 1.บุกรุกทำลายป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองจิหลาด ม.4 ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่ เนื้อที่ 33-2-08 ไร่ ผู้ต้องหา 2 คน 2.บุกรุกทำลายป่าสงวนแห่งชาติคลองจิหลาด ม.5 ต.ไสไทย เนื้อที่ 89-0-46 ไร่ ผู้ต้องหา 1 คน และคดีที่ 3 บุกรุกทำลายป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองจิหลาด ม.6 ต.ไสไทย เนื้อที่ 12-2-75 ไร่ โดยทั้ง 3 คดีเป็นคดีรายใหญ่ที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ประกอบกับคดีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับอดีต ส.ส.พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ที่อยู่เบื้องหลังการกระทำผิด ทำให้การสอบสวนสืบสวนในพื้นที่ดำเนินการไปได้อย่างไม่สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาลงโทษได้ จึงขอโอนคดีทั้ง 3 ดังกล่าวไปยังพนักงานสอบสวนส่วนกลาง นอกจากนี้ยังได้ทำหนังสือไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เพื่อดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำผิด