เมืองพัทยา หาทางแก้ปัญหาขยะล้นเกาะล้าน ตกค้างหลายหมื่นตัน หัวหน้าแขวง ชี้ปัญหาคือไม่มีเรือขนไปทิ้งบนฝั่ง แต่ไม่ได้วิกฤติร้ายแรงอย่างที่เป็นข่าว ส่วนรีสอร์ตบุกรุกที่สาธารณะทั้งทางบกทางน้ำ มี 37 ราย สั่งให้รื้อแล้ว...
จากกรณีประชาชนในพื้นชุมชนบ้านเกาะล้าน ม.7 ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน ให้ร่วมตรวจสอบปัญหาขยะมูลฝอยบนพื้นที่เกาะล้าน ที่ปัจจุบันพบว่าเริ่มส่อเค้าความรุนแรงมากขึ้นหลังจากพบว่ามีปริมาณขยะถูกกองสุมทิ้งไว้จำนวนหลายหมื่นตัน บริเวณเขานมหน้าหาดแสม ซึ่งสร้างปัญหามลพิษทางกลิ่น และภาพลักษณ์ที่เสียหายในพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แต่การบริหารจัดการแก้ไขยังไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีกองขยะกองสุมสะสมรวมอยู่เป็นจำนวนมากและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการขนถ่ายขยะที่ใช้เรือบรรทุกข้ามฟากจากพื้นที่เกาะล้านกลับเข้าสู่ฝั่ง ยังคงมีปัญหานั้น
ล่าสุด วันที่ 2 ก.ย.59 นายอนันต์ อังคณาวิสัย ประธานสภาเมืองพัทยา นำคณะสมาชิกสภาเมืองพัทยา เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอบางละมุง และกำลังทหารจากกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ เดินทางลงพื้นที่เกาะล้าน เพื่อรับฟังและตรวจสอบสภาพปัญหาในพื้นที่จริง โดยมีนายชวลิต ประดิษฐ์พฤกษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานแขวงเกาะล้าน พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนชุมชนมาให้การต้อนรับ
...
นายชวลิต กล่าวว่า สำหรับชุมชนบ้านเกาะล้านอยู่ห่างจากฝั่งเมืองพัทยาประมาณ 7.5 กม.มีพื้นที่รวมกว่า 3,000 ไร่ ประชากรกว่า 2,000 คน ปัจจุบันถือเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางเข้ามาพักผ่อนเป็นจำนวนมากเฉลี่ยวันละ 1.5-2 หมื่นคน หรือกว่า 5 ล้านคนต่อปี โดยมีชายหาดที่สวยงามจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ หาดตายาย หาดทองหลาง หาดตาแหวน หาดสำราญ หาดเทียน หาดแสม และหาดสังวาลย์ แต่ด้วยปริมาณนักท่องเที่ยวที่มีมากขึ้น จึงทำให้ระบบสาธารณูปโภคที่รองรับมีปัญหาอีกทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่คอยกำกับดูแลก็มีอัตรากำลังที่จำกัดจึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องของผลกระทบสิ่งแวดล้อม อย่างน้ำเสียและขยะมูลฝอย
ในส่วนของปัญหาขยะมูลฝอยนั้นที่ผ่านมามีปริมาณขยะอยู่วันละ 15-20 ตันซึ่งจะมีการขนถ่ายโดยเรือบรรทุกจากเกาะสู่ฝั่งเพื่อกำจัด แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาด้วยสภาพของเรือขนถ่ายที่เกิดการชำรุดจึงทำให้การใช้งานเหลือเพียง 1 ลำ ซึ่งจะสามารถบรรทุกขยะได้เพียงวันละ 20-24 ตันเท่านั้น ขณะที่ปริมาณขยะกลับเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราของนักท่องเที่ยว จนปัจจุบันมีปริมาณสูงกว่าวันละ 50 ตัน จึงส่งผลให้เกิดปัญหาขยะตกค้างไม่สามารถขนถ่ายได้หมด เป็นเหตุให้ต้องจัดหาพื้นที่เพื่อรองรับในการพักขยะไว้เป็นการเบื้องต้น ซึ่งต่อมาเมืองพัทยาได้พิจารณาให้ใช้พื้นที่จำนวน 12 ไร่ บริเวณเขานมเป็นสถานที่พักขยะ แต่จากปริมาณการเก็บขนที่ไม่สอดคล้องกับปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจึงทำให้มีขยะตกค้างและสะสมขึ้นเรื่อยๆ จนขณะนี้มีปริมาณขยะกองสุมรวมกว่า 30,000 ตันแล้ว
"ปัญหาที่เกิดขึ้น ทางแขวงฯ พยายามหาหนทางแก้ไขโดยการขอจัดสรรงบในการซ่อมแซมเรือขนถ่ายที่ชำรุดเพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่แต่ปรากฏว่าไม่มีเอกชนรายใดเข้ามาเสนอในงบฯกว่า 2.5 ล้านบาท จึงทำให้ปัญหายังคงคาราคาซังอยู่ ทำได้เพียงแต่ฉีดพ่นสาร EM เพื่อกำจัดกลิ่นเฉลี่ย 3 วันต่อครั้ง เพื่อลดปัญหามลพิษ และรอนโยบายของเมืองพัทยาเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไข ซึ่งเบื้องต้นได้ร้องขอให้พิจารณาจัดสร้างโรงเผาขยะมาตรฐานเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าปัญหาขยะบนเกาะล้านที่เจ้าหน้าที่ทำงานกันอย่างเต็มที่และชาวบ้านเข้าใจกันเป็นอย่างดี โดยที่ผ่านมาไม่เคยมีเรื่องร้องเรียนมาก่อน จึงอยากร้องขอให้สื่อมวลชนหยุดมโนนำเสนอข่าวว่าปัญหาเกาะล้านวิกฤติด้วย"
นาชวลิต กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะบนพื้นที่เกาะล้าน ซึ่งระบุว่า บเกาะล้านมีพื้นที่รวมกว่า 2,000 ไร่ แต่มีเพียง 200 กว่าไร่ หรือ 100 กว่าแปลงเท่านั้นที่มีเอกสารสิทธิครอบครองอย่างถูกต้อง นอกนั้นจะเป็นการจับจองพื้นที่ของชาวบ้านเป็นหลัก อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีกลุ่มนายทุนและชาวบ้านบางรายที่ทำการก่อสร้างต่อเติมอาคารเพื่อจัดสร้างที่พักและรีสอร์ตขึ้นโดยบุกรุกที่สาธารณะทั้งทางบกและทางน้ำรวม 37 ราย แยกออกเป็นทางน้ำ 28 รายและทางบก 9 ราย โดยเฉพาะบริเวณท่าหน้าบ้าน ที่มีการก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำเกือบตลอดแนวชายฝั่ง แต่ด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงทำให้การกำกับดูแลเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีการออกคำสั่งรื้อถอนไปแล้วพร้อมส่งเรื่องให้กลุ่มกฎหมายเมืองพัทยาดำเนินการตามขั้นตอน ก่อนเข้ารื้อถอนต่อไป
ด้านนายอนันต์ อังคณาวิสัย ประธานสภาเมืองพัทยา ระบุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะขยะมูลฝอย ยังไม่เข้าข่ายวิกฤติมากนัก เนื่องจากพื้นที่ยังคงรองรับขยะได้อีกระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็คงนิ่งนอนใจไม่ได้ การเข้ามาตรวจสอบครั้งนี้ เพื่อดูข้อเท็จจริงนำไปประกอบการพิจารณาการจัดสรรงบประมาณเข้ามาแก้ไข ซึ่งแบ่งแผนงานออกเป็น 3 ระยะคือ สั้น กลาง และยาว โดยต้องรอให้ทางแขวงเกาะล้านนำเร่งนำแผนงานเข้ามานำเสนอ
...
ส่วนปัญหาของการบุกรุกที่สาธารณะนั้น พบว่าเกิดปัญหาขึ้นมากมาย จึงเสนอให้เจ้า หน้าที่ทำงานด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และดำเนินการไปตามกรอบของกฎหมาย โดยเสนอให้มีการหยิบยกกรณีของ "ภูทับเบิก" มาเป็นโมเดลสำคัญในการแก้ไข เพราะสุดท้ายปัญหาเหล่านี้ต้องหมดไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบ้านเมือง.