ผอ.สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา เผยปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมที่บางแสน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฝีมือมนุษย์ที่เร่งผลิตปุ๋ยชั้นดี โดยเฉพาะการปล่อยน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัด ส่งผลให้แพลงก์ตอนขึ้นมาสังเคราะห์แสงลอยเกลื่อนเต็มชายหาด
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 59 ดร.เสาวภา สวัสดิ์พีระ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมที่น้ำทะเลบางแสนนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นทุกปี โดยในปีนี้เกิดแพลงก์ตอนบลูมแล้ว 2 ครั้ง ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และช่วงนี้ในเดือน ก.ค.
สำหรับการเกิดปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม เนื่องจากแพลงก์ตอนนอคติลูกา (Noctiluca) ที่อยู่ในสาหร่ายได้รับปุ๋ย หรือ อาหาร เป็นจำนวนมาก เมื่อพบแสงแดดจึงเกิดการสังเคราะห์แสงขึ้น ทำให้แพลงก์ตอนนอคติลูกาเจริญเติบโตเต็มน้ำทะเล ซึ่งการเพิ่มขึ้นของจำนวนแพลงก์ตอนนั้นจะมีการเจริญเติบโตแบบเท่าทวีคูณ จาก 2 ไป 4 ไป 8 ไป 16 การเติบโตในลักษณะนี้จะเป็นแบบนี้ทุกวินาที จึงส่งผลให้น้ำทะเลกลายเป็นสีเขียวและมีกลิ่นเหม็นคาว
ดร.เสาวภา กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดปุ๋ย หรือ อาหาร ของแพลงก์ตอนก็คือ น้ำและฝนที่ชะล้างสิ่งสกปรกต่างๆ สารอินทรีย์ และแร่ธาตุต่างๆ เช่น ไนโตรเจน ฟอสเฟต ไหลลงสู่ทะเล ทำให้แพลงก์ตอนต้องการแสงแดดเพื่อการสังเคราะห์แสง และส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำทะเลลดลง ซึ่งหากออกซิเจนมีปริมาณน้อยเท่าไร สัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ใต้น้ำก็จะเริ่มขาดอากาศหายใจและตายลงในที่สุด
ส่วนที่ว่าจะเกิดอันตรายกับมนุษย์หรือไม่นั้น ก็อาจจะมีบ้าง แต่ก็ไม่ได้กระทบอะไรมากนัก ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เมื่อเห็นทะเลเป็นสีเขียวและมีกลิ่นเหม็นก็จะไม่ค่อยลงเล่นน้ำทะเลกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องระวังมากกว่าคือ แมงกะพรุนที่อยู่ในทะเล อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวในชุมชนก็น่าจะได้รับผลกระทบจากแพลงก์ตอนบลูมอยู่บ้าง ซึ่งทางเทศบาลตำบลแสนสุขได้มีการหามาตรการป้องกันสำหรับนักท่องเที่ยวที่เกิดอาการแพ้หลังจากลงเล่นน้ำในช่วงเกิดแพลงก์ตอนบลูม
...
สำหรับการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดแพลงก์ตอนบลูมนั้น ดร.เสาวภา กล่าวว่า เราควรจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่า โดยเฉพาะการให้ความรู้ความเข้าใจคนในชุมชนให้ลดการปล่อยน้ำเสียลงทะเล และให้ความสำคัญกับการบำบัดน้ำเสีย
"แม้ว่าจะมีการใช้อีเอ็มบอลมาช่วยกำจัด แต่ก็ช่วยได้แค่นิดหน่อยเท่านั้น น้ำทะเลกว้างใหญ่ไพศาลต้องใช้อีเอ็มบอลจำนวนมากเท่าไรถึงจะช่วยกำจัดแพลงก์ตอนได้"
ดร.เสาวภา กล่าวว่า สาหร่ายที่ลอยอยู่ในทะเลเป็นจำนวนมากนั้น เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเอาไปทำปุ๋ยได้ แต่ก็คงต้องให้นักวิจัยไบโอโลจีเข้ามาวิจัยและตรวจสอบว่าสาหร่ายดังกล่าวเอาไปทำประโยชน์อะไรได้อีกหรือไม่.