นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ปธ.กบอ. สั่งน้ำห้ามท่วมนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี หลังลงตรวจเยี่ยมดูแผนป้องกันน้ำท่วม...
วันที่ 19 ต.ค. 56 นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เดินทางมาตรวจเยี่ยม พร้อมร่วมประชุมหารือแผนการบริหารจัดการน้ำ ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ชลบุรี
โดยมี นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วย นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาดบริษัท อมตะคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานกรมชลประทานชลบุรี มณฑลทหารบกที่ 14 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมเข้าประชุม เพื่อเตรียมป้องกันรับมือมวลน้ำจาก อ.พนัสนิคม อ.พานทอง อ.เมืองชลบุรี และปริมาณน้ำฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ผู้ประกอบการ และชุมชนภายนอก
จากลงสำรวจพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานการณ์น้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร พบว่าอยู่ในสภาวะน้ำขังบริเวณผิวการจราจร อยู่เพียงบางจุดเป็นระยะทางสั้นๆ ในช่วงเฟส 4 ก่อนขึ้นสะพานมอเตอร์เวย์ ระดับน้ำสูงประมาณ 15-30 เซนติเมตร และบริเวณสี่แยกไฟแดงเฟส 6c ระดับน้ำสูงประมาณ 40 เซนติเมตร ส่งผลให้การจราจรเคลื่อนตัวได้ช้า แต่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ยังคงเปิดทำการตามปกติ และพบว่าพนักงานในโรงงานอมตะนครบางส่วน ที่ไม่สามารถเดินทางฝ่ามวลน้ำไปทำงานได้ ได้ออกมารวมตัวกันหว่านแห ดักอวนจับปลาในบริเวณดังกล่าว สร้างสีสันในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมได้เป็นอย่างดี
นายปลอดประสพ กล่าวว่า ในนามของรัฐบาล นำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการว่า ให้หาทุกมาตรการในการทำให้นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร น้ำไม่ท่วม เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ที่ส่งผลก่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ประเทศ หากนิคมฯ เกิดน้ำท่วม จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศหยุดชะงักลงเช่นกัน
ดังนั้น ทางรัฐบาลจะขอสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อนำเงินมาพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดภาคตะวันออก ไม่ให้ประสบปัญหาน้ำท่วม ซึ่งจะสามารถเห็นผลภายใน 3 ปี ว่า สถานการณ์น้ำจะดีขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกันนี้ ตนได้สั่งการให้นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร หาวิธีจัดการน้ำให้เข้าสู่สภาวะปกติภายใน 3 วัน และห้ามให้เกิดสถานการณ์โรงงานในนิคมอมตะนครปิดโรงงาน หรือหยุดการผลิตโดย เด็ดขาด
ด้านนายวิบูลย์ กล่าวว่า ขณะนี้ ทางนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครได้มีวิธีจัดการกับสถานการณ์น้ำไว้ 2 รูปแบบ คือ วิธีจัดการรับมือกับสถานการณ์น้ำที่ท่วมขังภายในนิคมฯ กับวิธีรับมือกับมวลน้ำลูกใหม่ที่อาจจะทะลักเข้ามาจาก อ.โดยรอบ และฝนตก ซึ่งการจัดการน้ำที่ท่วมขังภายในนิคมฯ นั้น ทางอมตะได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต่างๆ เร่งขุดลอกขยายคลองที่เชื่อมต่อกับแมน้ำบางปะกง เพื่อเร่งการระบายน้ำภายในนิคมฯ ลงสู่ทะเล โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามจุดต่างๆ กว่า 100 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 28 เครื่อง เปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแก้สถานการณ์น้ำท่วมขัง
ส่วนการรับมือมวลน้ำจากพื้นที่ใกล้เคียงไม่ให้ไหลทะลักเข้าในนิคมฯ นั้น ทางอมตะได้ทำคันดินกั้นโดยรอบพื้นที่ เพื่อป้องกันน้ำ พร้อมขอกำลังเจ้าหน้าที่ทหารให้ยืนเวรยามเฝ้าคันดิน ป้องกันชาวบ้านมาทำลายคันดินดังกล่าว นอกจากนี้ ทางอมตะยังเข้าให้การดูแลช่วยเหลือชาวบ้านโดยรอบนิคมฯ ที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยการจัดรถสุขาเคลื่อนที่ พร้อมถุงยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ยารักษาโรค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนในเบื้องต้นด้วย.
...