ไทยออยล์ ทำหนังสือจี้บริษัทแม่ UJV ยันไม่นิ่งนอนใจเหตุรับเหมายักษ์ใหญ่ต่างชาติเบี้ยวค่างวดบริษัทรับเหมาช่วงไทย ส่วนการเยียวยาเป็นเรื่องของบริษัทรับเหมาช่วงที่จะต้องดูแลกันเอง ด้านตัวแทนผู้รับเหมาช่วงยันหากไม่มีอะไรคืบหน้าพร้อมยกระดับการชุมนุม

จากกรณีกลุ่มพนักงานของบริษัทรับเหมารวมตัวถือป้ายเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดออกมารับผิดชอบปัญหาที่ไม่ยอมจ่ายเงินค่าแรงให้พนักงานหลายร้อยชีวิตบริเวณปากทางเข้าในโรงกลั่นน้ำมันดัง ในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ตามที่ได้มีรายงานไปแล้วนั้น (อ่านข่าว : "ไทยออยล์" แจงปม แรงงานประท้วงบริษัทผู้รับเหมา อ้างไม่ได้รับค่าจ้างมา 4 เดือน)

ซึ่งขณะนี้ผลกระทบที่เกิดจากการจ่ายเงินงวดของผู้รับเหมาหลักที่ล่าช้าต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือนยังคงส่งผลกระทบต่อทั้งนายจ้าง และแรงงาน โดยกลุ่มแรงงานและนายจ้างกว่า 3,000 คน ซึ่งเป็นตัวแทน 30 บริษัทรับเหมาช่วงไทยรวมตัวกันเดินเท้าแสดงพลังยื่นหนังสือร้องขอความเห็นใจต่อเจ้าของโครงการพลังงานสะอาดใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อจี้ผู้รับเหมาใหญ่ต่างชาติ ให้จ่ายเงินค้างค่างวดพร้อมบูม PAY PAY PAY กระหึ่ม ด้านหน้าโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ พร้อมยื่นหนังสือต่อ นายชัยพร แพภิรมย์รัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และตัวแทนบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 18 ตุลาคม 2567

...

โดยล่าสุด ในส่วนของตัวแทนบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงแนวทางการให้ความช่วยบริษัทผู้รับเหมาช่วงไทยที่ได้รับความเดือดร้อนว่า บริษัทฯ จะแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 กรณี คือการแก้ไขปัญหาระหว่าง UJV กับบริษัทผู้รับเหมาช่วง ที่เป็นคู่สัญญาโดยตรง ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทฯ ได้พยายามทำหนังสือทวงถามไปยังบริษัทแม่ UJV เพื่อให้รับผิดชอบต่อผู้รับเหมาช่วงแล้ว

ส่วนกรณีแรงงานที่ผู้รับเหมาช่วงต้องดูแลนั้น บริษัทผู้รับเหมา จะต้องดำเนินการดูแลเองเนื่องจาก ไทยออยล์ ไม่อาจก้าวล่วงหรือบังคับสิทธิตามสัญญาได้

"ในกรณีนี้จะเป็นสัญญาการจ้างทำระหว่างผู้รับเหมาช่วงกับ UJV ที่ต้องดูว่าเป็นสัญญาแบบไหนไม่ว่าจะเป็นตัวผู้รับเหมาที่มาจากต่างประเทศหรือผู้รับเหมาที่อยู่ประเทศไทย" ตัวแทนบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าว

ขณะที่ นายชัยพร แพภิรมย์รัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เผยว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทางจังหวัดมีความห่วงใยมาโดยตลอด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้สั่งการให้ตนเองเดินทางมารับหนังสือความเดือดร้อนของกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในพื้นที่ และหลังจากนี้จะได้เรียกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าหารือร่วมกับผู้ประกอบการ ภายใต้การพิจารณาเอกสารหลักฐานต่างๆ ซึ่งในเบื้องต้นจะได้มอบหนังสือร้องเรียนดังกล่าวให้ศูนย์ดำรงธรรม เพื่อดำเนินการต่อ

"เรื่องนี้เราติดตามมาตั้งแต่การชุมนุมครั้งก่อนที่ได้มีการเยียวยาบางส่วนไปแล้ว ซึ่งผลกระทบนี้เกิดจากบริษัทต่างชาติบางบริษัท ซึ่งทางจังหวัดมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งแรงงาน อุตสาหกรรมจังหวัด รวมทั้งศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งทางจังหวัดฯ จะพยายามทำให้ดีที่สุดแต่เนื่องจากเป็นสัญญาทางแพ่งราย ดังนั้นรายละเอียดในการดำเนินงานต้องเป็นไปตามกฎหมายแรงงาน และกฎหมายแพ่งที่ส่วนของ ไทยออยล์ ก็จะต้องให้ทีมกฎหมายของไทยออยล์ มาดูรายละเอียดด้วย"

ขณะที่ นายสมพงษ์ ชอัมพงษ์ ผู้จัดการโครงการ CFP พลังงานสะอาด เผยว่าการรวมตัวชุมนุมในครั้งนี้มีผู้ชุมนุมจาก 30 บริษัท รวมจำนวนกว่า 3,500 คน เพื่อกดดันให้ผู้รับเหมาหลัก จ่ายเงินค่างวดที่ค้างจ่ายประมาณ 6-7 เดือน เพื่อให้บริษัทผู้รับเหมาช่วงสามารถนำไปจ่ายให้พนักงานได้

...

"วันนี้หากไม่มีอะไรคืบหน้าเราคงต้องยกระดับการชุมนุม และทำหนังสือยื่นต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อให้คนที่ได้รับความเดือดร้อนหลายครอบครัวได้รับการเยียวยา พร้อมขอฝากถึงรัฐบาลและผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาล ให้ลงมาดูแลและช่วยเหลือเราด้วย เนื่องจากกระทบแรงงานไทยหลายหมื่น" ผู้จัดการโครงการ CFP พลังงานสะอาด กล่าว