ภาพรวม “ท่องเที่ยวไทย” ทำท่าจะดีขึ้น...สถาบันการเงินแห่งหนึ่งจินตนาการว่าปีนี้ทัวริสต์ต่างชาติ 34 ล้านคน ฟื้นตัวราว 85% เมื่อเทียบกับปี 2562 สร้างรายได้ 2.52 ล้านล้านบาทฟื้นตัว 84% ถ้าไม่มีเหตุการณ์หน่อมแน้มขัดตาทัพ

ไปๆมาๆเห็นทีไม้ไผ่จะกลายเป็นบ้องกัญชา เมื่อเกิดดราม่าอีตติ้งโชว์ข้าวค้างสต๊อกโกดัง 10 ปี อ้างกินแล้วไม่ตาย...ช็อตฟีลเมืองไทยที่กำลังทำคอนเทนต์ซอฟต์พาวเวอร์ 5 พันล้านบาท

ชูประเด็นอาหารเป็น 1 ใน 5 จุดขาย เรียกคนมาเที่ยวแล้วกิน “อาหารไทย” เสิร์ฟคู่กับข้าวสวยร้อนๆ

เสี่ยงทายเอาเองว่าข้าวสวยหุงขึ้นหม้อจานนั้น เป็นข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาหรือข้าวโกดังผ่านการซาวน้ำ 15 ครั้งกันแน่? ดูท่าจะไม่เป็นผลดีเลย เพราะ “รายจ่าย” พวกเขาปี 2566 อยู่ในโหมดค่าอาหารถึง 22.81% รองจากค่าที่พักซึ่งสูงสุด 35.50%

ผู้คร่ำหวอดยุทธจักรท่องเที่ยวอดไม่ได้ที่จะกล่าวย้ำ...“นี่คืออุปสรรคกับการตั้งเรือธงท่องเที่ยวแล่นสู่เป้าหมาย ท่ามกลางความไม่มั่นใจของผู้คิดจะวางแผนมาเที่ยวบ้านเรา

...

ด้วยสะท้อนความไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ นอกเหนือการปล่อยขยะอันตรายที่โลกปฏิเสธ เล็ดลอดเข้ามาทำลายสิ่งแวดล้อมเมืองท่องเที่ยวอยุธยา ชลบุรี อย่างที่เป็นข่าว”

กูรูอาวุโสรายเดียวกันยกตัวอย่าง “ระยอง” ซึ่งเป็นเมืองรองท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ แต่เป็น “ฮับ” ท่องเที่ยวห่วงโซ่พัทยาภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ที่มีปัจจัยหนุนทรัพยากรเป็นสินค้าท่องเที่ยว และสิ่งอำนวยความสะดวกคุณภาพเป็นตัวเกื้อหนุนสำคัญ

“แต่...ระยองมักมีปัญหา” กูรูคนเดิม ว่า

เรื่องถูกมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมบูลลี่อยู่ประจำ เช่น ท่อส่งน้ำมันดิบใต้ทะเลรั่วไหลทำลายทะเลอ่าวไทยแถบเกาะเสม็ดเมื่อปลายปี 2556

และอีกครั้งที่ทะเลมาบตาพุดกระเทือนชายฝั่งหาดแม่รำพึงถึงอุทยานเขาแหลมหญ้าปี 2565สร้างความสูญเสียต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในทะเลกระทั่งมนุษย์บนบก

....จนรัฐมนตรีสมัยนั้นต้องมาสาธิตอีตติ้งซีฟู้ดโชว์เหมือนรัฐบาลชุดนี้

เมื่อเมษายนปีนี้...ก็มีเหตุไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีและกากอุตสาหกรรมที่ อ.บ้านค่าย มีเสียงระเบิดดังสนั่นเป็นระยะกับสารเคมีส่งกลิ่นคลุ้ง ต้องอพยพผู้คนกันอลหม่าน...

ไม่ทันไรต้นเดือนพฤษภาคมสดๆร้อนๆ เกิดไฟไหม้ถังเก็บสารไพรโรไลลิสแก๊สโซลีน ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีพนักงานเสียชีวิตหนึ่งบาดเจ็บอีกสาม และเช่นเคยต้องอพยพผู้คนกันเร่งด่วน เพราะสารดังกล่าวมีพิษก่อให้เกิดมะเร็งได้

พูดด้วยความรันทด “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำครั้งไม่ได้ถือเป็น บทเรียน เพื่อป้องกันภัยครั้งต่อไปและอย่าถามเลยว่าความสูญเสียนั้นมากน้อยเพียงใด แต่ก็ควรคิดประณามการเตรียมการป้องกันที่บกพร่องตั้งแต่ต้นน้ำ ปล่อยให้เหตุการณ์เกิดแล้วค่อยหาทางแก้ ที่ปลายน้ำ”

กระนั้นแล้วก็ต้องเชื่อมโยงมาถึงผลกระทบที่มีต่อ“อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” ที่ประเทศกำลังต่อลมหายใจให้เศรษฐกิจยามนี้

เรื่องนี้ สมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการ ททท.ด้านตลาดในประเทศ ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า

“...เป็นไปไม่ได้ที่จะด่วนสรุปว่าไม่กระเทือนท่องเที่ยวระยอง เพียงแต่โชคดีที่จัดอยู่ในระยะสั้นๆ ทำให้ผู้คนตื่นตระหนกกับข่าวร้ายไปพักหนึ่ง ซึ่งอาจล้มเลิกการจองที่พักและเดินทางไปชั่วคราว”

...

จนเมื่อทุกอย่างคลี่คลายคืนสู่ภาวะปกติแล้วถึงค่อยคิดเริ่มต้นกันใหม่ อันนี้เป็นพฤติกรรมประจำตัวของนักท่องเที่ยวทั่วไป

สมฤดี จิตรจง
สมฤดี จิตรจง

ขณะเดียวกัน ททท.ในฐานะแกนนำด้านตลาดท่องเที่ยว จะรีบทำความเข้าใจกับมวลชนท่องเที่ยวถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นกับการแก้ไขเป็นระยะ ประกอบการตัดสินใจตลาดภายในและนอกประเทศ โดยผ่านสำนักสาขาในไทยและทั่วโลก

สิ่งที่จะยืนยันเหตุผลคำชี้แจงนี้ได้ ก็ต้องย้อนไปเมื่อปี 2562 ก่อนโควิดระบาดหลังน้ำมันดิบรั่วครั้งแรก “ระยอง” มีผู้มาเยือน 7.76 ล้านคนครั้ง ทำรายได้ 37.69 หมื่นล้านบาท

ปี 2566 เมื่อโควิดคลี่คลายกับหลังน้ำมันรั่วปีก่อนหน้า ระยองยังมีผู้มาเยือน 4.91 ล้านคนครั้ง ทำรายได้ 21.19 หมื่นล้านบาท...ปีนี้ช่วง 3 เดือนแรกมีมาเยือนแล้ว 1.35 ล้านคนครั้ง ทำรายได้ 6.07 พันล้านบาท

ขณะที่ วัชรพล สารสอน ผอ.ททท.สำนักงานระยอง ชี้แจงเพิ่มเติมเหตุพิบัติภัยล่าสุดที่มาบตาพุด กระทบผู้อยู่อาศัยรอบๆบริเวณชุมชนด้านทิศตะวันตก เนื่องจากกระแสลมพัดหอบเอาควันและสารพิษไปยังทิศดังกล่าว จึงไม่เสียหายกับฝั่งตะวันออก 7 อำเภอ

...

ได้แก่ เมืองระยอง แกลง วังจันทร์ บ้านค่าย ปลวกแดง ชะเมา และนิคมพัฒนา ซึ่งกำลังเป็นฤดูท่องเที่ยวสวนผลไม้

วัชรพล สารสอน
วัชรพล สารสอน

นอกจากนี้ไม่ส่งผลต่อธรรมชาติทะเล เช่น หาดแสงจันทร์ แม่รำพึง สวนสน แม่พิมพ์ เกาะเสม็ด หมู่เกาะมันและวิถีชุมชนอ่าวมะข้ามป้อม ตลาดบ้านเพ ปากน้ำประแสร์ ที่สามารถไปท่องเที่ยวได้ตามปกติ

“ระยองเป็นเมืองอุตสาหกรรม 3 แบบ ประกอบด้วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการเกษตรที่เป็นสินค้าท่องเที่ยวเชิงเกษตร และนิคมอุตสาหกรรมตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้โครงการอีอีซี โดยกำหนดโซนนิ่งให้มาบตาพุดเป็นเขตอุตสาหกรรมดังกล่าว”

...

ข้อมูลเพิ่มเติมมีอีกว่า... “เอ็กซ์เพท” ซึ่งหมายถึงคนต่างชาติในไทยจากจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีที่ปฏิบัติงานภายในนิคม คนเหล่านี้คือนีชมาร์เก็ตที่ไม่ควรมองข้าม

เพราะมีอำนาจการจับจ่ายสูงต่างกับกลุ่มแรงงานเพื่อนบ้าน น่าสนใจว่า...ระยองมีเอ็กซ์เพทราว 1 แสนคน สร้างรายได้ท้องถิ่นมหาศาลจากค่าที่พักระยะยาว

นับรวมไปถึง...ค่าอาหาร ท่องเที่ยวกับกีฬาที่พวกเขานิยมช่วงฮอลิเดย์คือ “กอล์ฟ”

ที่ผ่านมา ททท.ระยอง จัดโปรแกรม “365 วันอะเมซิ่ง ระยอง กอล์ฟ” ตลอดเดือนเมษายนให้คนกลุ่มนี้และร่วมกับ ททท.ภูมิภาคชวนเอ็กซ์เพทในไทยกว่า 2 ล้านคน

เชิญชวนมาเที่ยวระยองออกรอบดวลวงสวิง ตามคอนเทนต์ซอฟต์พาวเวอร์นอกเหนือการท่องเที่ยวเชื่อมสู่กันระหว่างภาค

คาดหวังกันว่าสำหรับ...สถิตินักท่องเที่ยวระยองปีนี้น่าจะได้ 7.7 ล้านคนตามเป้ากับรายได้ 3.7 หมื่นล้านบาทแน่นอน ส่วนในภาพใหญ่กว่านี้หัวหอกท่องเที่ยวไทยจะขยับขับเคลื่อนไปทิศทางไหนอย่างไร...ก็ต้องติดตามดูกันต่อไป.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม