วิจารณ์สนั่น หลวงพี่ควบซาเล้งจีวรบินบนถนนหลวง อ้างบวชแก้บนช่วงโควิด อาศัยอยู่กับลูก ไม่ได้จำศีลที่วัด
วันที่ 13 เมษายน 2567 มีรายงานว่า ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเมื่อวันที่ 12 เมษายน ที่ผ่านมา ให้ช่วยตรวจสอบพระสงฆ์ประพฤติตนด้วยการขี่รถจักรยานยนต์ซาเล้งพ่วงข้างอยู่ในเมือง และบนถนนหลวงสุขุมวิทหมายเลข 3 พื้นที่ ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบทราบว่า รถคันดังกล่าวที่พระสงฆ์ขี่มานั้นเป็นรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง ฮอนด้า เวฟ 100 สีน้ำเงิน ทะเบียนนครสวรรค์ ได้จอดอยู่บริเวณข้างอาคารโรงพักสัตหีบ ส่วนพระสงฆ์ที่ขี่มานั้นได้นั่งรอคิวในห้องทำบัตรประชาชนอยู่นานร่วม 2 ชั่วโมง
สอบถาม นางพิกุล โสภา ปลัดอำเภอสัตหีบ กล่าวว่า พระสงฆ์รูปนี้ได้มาติดต่อขอทำบัตรประชาชน โดยมีสมุดสุทธิมาแสดงปรากฏชื่อว่า พระกฤษฎา แต่สมุดเล่มนี้ออกมาไม่สมบูรณ์ ทางอำเภอจึงไม่สามารถดำเนินการทำบัตรให้ได้ พระรูปนี้จึงทิ้งสมุดสุทธิเล่มนี้ไว้ ก่อนจะเดินออกมาจากห้องทำบัตร โดยแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า จะออกมาดูบุตรชาย ที่มาเกณฑ์ทหารภายในศาลาประชาคม
...
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับพระรูปนี้ โดยบอกว่าบวชอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยการบวชในครั้งนี้นั้นเป็นการบวชแก้บนขอให้รอดพ้นจากช่วงโควิด-19 และอาศัยอยู่กับลูกที่หมู่บ้านเอื้ออาทรนาจอมเทียน โดยไม่ได้อยู่จำศีลที่วัด ก่อนจะแยกย้ายกัน โดยพระรูปนี้อ้างว่าจะไปดูลูกที่กำลังเกณฑ์ทหาร
ต่อมาเพียงไม่กี่นาที พระรูปนี้ก็ได้มาปรากฏตัวที่รถจักรยานยนต์ที่ได้ขี่มาจอดไว้ ก่อนจะขี่รถผ่านเข้าไปในตลาดสัตหีบมุ่งหน้าออกถนนสุขุมวิท ซึ่งมีรถและประชาชนอยู่กันอย่างคับคั่ง ทำเอาชนิดต้องหันมองกันด้วยความตื่นตระหนกกับภาพที่เห็นพระสงฆ์มาขี่รถจักรยานยนต์อยู่บนถนนเช่นนี้ และต่างตั้งคำถามว่าเป็นการกระทำที่ผิด เหมาะสมหรือไม่แต่อย่างใด ซึ่งผู้สื่อข่าวได้ติดตามไปถึงจุดหมายปลายทางคือ วัดทรัพย์นาบุญญาราม ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ เป็นระยะทางไกลถึง 16 กม. โดยจอดรถไว้ที่หน้าอาคารแห่งหนึ่ง ก่อนหายตัวเข้าไปในวัด
อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุ นางพิกุล ปลัดอำเภอสัตหีบ ได้ประสานไปยัง พระครูปลัดวินัย ธีรปญฺโญ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเทพประสาท ร่วมกับคณะสงฆ์ที่เกี่ยวข้อง เข้าทำการตรวจสอบว่าเป็นพระสงฆ์จริงที่บวชมาอย่างถูกต้องหรือไม่ ส่วนกรณีขี่รถจักรยานยนต์นั้นเพิ่งได้รับทราบจากหลักฐานเป็นรูปถ่าย ยังอยู่ในระหว่างการหาข้อสรุป
สำหรับกรณี พระสงฆ์ขี่รถจักรยานยนต์ หรือขับรถยนต์ได้หรือไม่นั้น มหาเถรสมาคมมีมติ “ห้าม” พระและสามเณรขับรถยนต์ รวมถึง "ห้าม" ขี่รถจักรยานยนต์ เว้นแต่เป็นการขับขี่เพื่อกิจการของวัด โดยเป็นการขับขี่ภายในวัด หรือเหตุจำเป็นฉุกเฉินอย่างยิ่ง เช่น มีพระภิกษุ สามเณรอาพาธ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล.