นักประดาน้ำไทย-สหรัฐฯ ดำน้ำ ถอดป้ายชื่อเรือหลวง “สุโขทัย” ที่ติดตั้งอยู่ทางกราบขวาเรือได้สำเร็จ หลังจากวันแรกถอดไม่ออก เพราะมีสัตว์ทะเลเกาะแน่น นำขึ้นมาส่งมอบให้เจ้าหน้าที่กองทัพเรือเก็บรักษา ขณะที่ภารกิจกู้ซากเรือหลวง มรณะยังอยู่ในขั้นตอนดำน้ำถ่ายภาพสำรวจรอบตัวเรือ เพื่อรอผู้เชี่ยวชาญวางแผนเข้าปลดวัตถุอันตรายในตัวเรือ
ผ่านไปกว่า 1 ปี ภายหลังเรือหลวงสุโขทัย อับปางลงกลางทะเลอ่าวไทย เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 18 ธ.ค. 65 ขณะนำกำลังพล 105 นาย ออกเดินทางจากกองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี มุ่งหน้าไปร่วมงานฉลองครบรอบ 100 ปี กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ศาลหาดทรายรี จ.ชุมพร แต่ถูกพายุคลื่นลมแรงซัดกระหน่ำจมลงใต้น้ำลึก 40 เมตร ห่างชายฝั่งในพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 20 ไมล์ทะเล กำลังพลรอดตาย 76 นาย เสียชีวิต 24 นาย สูญหาย 5 นาย
วันที่ 2 ของปฏิบัติการในภารกิจกู้เรือหลวงสุโขทัย (แบบจำกัด) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือไทย-สหรัฐฯ ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อช่วงเช้าวันที่ 23 ก.พ.ว่า บรรยากาศที่ท่าเรือประจวบฯ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงเช้า ร.ล.บางระจัน เรือ ต.997 และเรือ ต.998 พร้อมกำลังพลได้ออกไปปฏิบัติภารกิจในจุดพิกัดที่เรือหลวงสุโขทัยจมลงกลางทะเลอ่าวไทย ห่างชายฝั่งราว 20 ไมล์ทะเล ในพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขณะที่ ร.ล.มันใน และ ร.ล.ท่าดินแดง ไม่ได้ออกร่วมภารกิจด้วย ยังคงจอดทอดสมออยู่ที่ท่าเรือประจวบฯ
ขณะที่บนเรือ Ocean Valor ที่จอดลอยลำอยู่ในอ่าวไทย ใกล้จุดที่เรือหลวงสุโขทัยอับปาง ชุดปฏิบัติการของกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายในเรือหลวงสุโขทัยที่จมอยู่ใต้น้ำ ระดับความลึกประมาณ 40 เมตร กองทัพเรือได้แจ้งสรุปผลการปฏิบัติงานในวันแรก 22 ก.พ.ว่า ชุดประดาน้ำผสมของกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ปฏิบัติการ 3 เที่ยว เป็นการถอดป้ายชื่อเรือหลวงสุโขทัยทางกราบขวา แต่ไม่สามารถถอดได้ เนื่องจากป้ายยึดแน่นจากการที่สัตว์ทะเลเกาะอยู่บนพื้นผิว ประกอบกับเวลาปฏิบัติการใต้น้ำไม่เพียงพอ ต้องเลื่อนการเก็บกู้ป้ายชื่อเรือไปดำเนินการในวันถัดไป
...
จากนั้นได้ดำน้ำถ่ายภาพบริเวณเครื่องกว้านสมอ ทางเข้า (ฝา Hatch) หน้าเครื่องกว้าน และรอยฉีก หน้าโครงกันคลื่น (Wave breaker) การปฏิบัติการวันแรกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สภาพทะเลและอากาศไม่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงาน กระทั่งในวันนี้ 23 ก.พ. ชุดปฏิบัติการได้วางแผนการดำน้ำ 4 เที่ยว เที่ยวที่ 1 และ 2 ดำน้ำสำรวจตัวเรือภายนอก และถอดป้ายชื่อเรือหลวงสุโขทัย เที่ยวที่ 3 และ 4 ดำน้ำเพื่อตรวจวัดรอยทะลุบริเวณหัวเรือ และตรวจสอบประตูผนึกกั้นน้ำบริเวณท้ายเรือ และที่แท่นอาวุธปล่อย Aspide บริเวณท้ายเรือ จากการดำน้ำในช่วงเช้า ชุดประดาน้ำผสมของกองทัพเรือทั้ง 2 ประเทศ สามารถนำป้ายเรือหลวงสุโขทัย ซึ่งเป็นสิ่งของชิ้นแรกที่นำขึ้นมาจากเรือได้เป็นผลสำเร็จ และนำส่งให้เจ้าหน้าที่กองทัพเรือเก็บรักษาดูแล
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับป้ายชื่อ “สุโขทัย” ที่นำขึ้นมานั้น เป็นแผ่นป้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำจากไม้เนื้อแข็ง มีตัวอักษรเป็นโลหะทองเหลือง บนแผ่นป้ายมีเพรียงและหอยเกาะอยู่ทั่วทั้งแผ่นจนมองตัวหนังสือได้ค่อนข้างลำบาก ป้ายแผ่นนี้ติดอยู่ทางกราบขวาของสะพานเดินเรือ บนแผ่นป้ายมีข้อความเป็นตัวหนังสือสองบรรทัด บรรทัดบนเป็นอักษรไทยคำว่า“สุโขทัย“ และบรรทัดล่างเป็นอักษรภาษาอังกฤษ คำว่า “SUKHOTHAI” สำหรับป้ายชื่อเรือถือเป็นสิ่งของทหารเรือให้ความสำคัญ หากเรือรบเกิดอับปาง จะต้องถอดแผ่นป้ายชื่อเรือออกมาเก็บรักษาไว้
ต่อมาเวลา 17.00 น. กองทัพเรือได้เผยแพร่คลิปวิดีโอการปฏิบัติภารกิจของนักประดาน้ำและเจ้าหน้าที่บนเรือ Ocean Valor จำนวน 2 คลิป เป็นภารกิจปลดป้ายเรือหลวงสุโขทัยและนำขึ้นมาจากใต้ทะเล คลิปแรก ความยาว 1.31 นาที เผยให้เห็นสภาพการทำงานใต้น้ำในช่วงวินาทีที่นักดำน้ำ 2 คนกำลังช่วยกันถอดป้าย “สุโขทัย” ออกจากกราบเรือด้วยความยากลำบาก และอีกคลิปความยาว 34 วินาที เผยให้เห็นช่วงจังหวะที่กระเช้าบนเรือ Ocean Valor ดึง 2 นักประดาน้ำขึ้นจากทะเล บนกระเช้าได้นำป้าย“สุโขทัย” ที่ปลดออกจากเรือขึ้นมาด้วย
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่