“EEC”...โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือชื่อเดิม “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” กำลังจะย่ำยีคนพื้นที่ภาคตะวันออก?

ประเด็นที่หนึ่ง...อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม มองว่าสภาพชุมชน...ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง กำลังถูกย่ำยีอย่างหนัก

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้พิจารณาเรื่องการขยายการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมจากเดิมทำในผังเมือง “สีม่วง” ให้ขยายไปยังผังเมือง “สีเหลือง” ซึ่งเป็นโซนที่อยู่อาศัยของชุมชนด้วย

โดยให้แบ่งพื้นที่ในผังสีเหลืองไปสร้างโรงงานได้และยังขอให้ ลดระยะเวลาการเก็บตัวอย่างในการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ต้องเก็บข้อมูลปฐมภูมิที่เกี่ยวกับอากาศและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้ครบทุกฤดู ซึ่งใช้เวลามากกว่า 1 ปี

...

...เป็นให้ใช้รายงานข้อมูลทุติยภูมิจากพื้นที่ใกล้เคียงที่มีอยู่แล้วแทน เพื่อลดเวลาเก็บข้อมูลในการทำรายงาน EIA เพื่อสามารถนำพื้นที่มาพัฒนาได้เร็วขึ้น

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์
อาจารย์สนธิ คชวัฒน์

ประเด็นที่สอง...ทุกวันนี้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษตามมาตรา 48 ของ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 35 เขตก็ได้ขยายออกไปสู่พื้นที่เกษตรกรรม ป่าชายเลนจำนวนมาก เช่น ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

จากพื้นที่เกษตรกรรมอุดมสมบูรณ์กลายมาเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ติดแม่น้ำบางปะกง รวมทั้งกำลังจะมีการขยายอุตสาหกรรมไปในพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีของ อ.พานทอง จ.ชลบุรี อ.บ้านโพธิ์ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา อีกด้วย

ประเด็นที่สาม...การใช้อำนาจเปลี่ยนสีผังเมืองและขยายอุตสาหกรรม ให้สามารถตั้งได้กระทั่งพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัยพื้นที่เกษตรกรรมยิ่งทำให้คนพื้นที่มีความรู้สึกถูกเอาเปรียบมากยิ่งขึ้น ความเห็นของชุมชนที่จะคัดค้านก็ทำได้เพียงแสดงความเห็นผ่านในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ในการทำรายงาน EIA เท่านั้น

แต่...คณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนยังด้อยค่ารายงาน EIA อีก เพียงแค่ทำให้ครบตามกฎหมายเท่านั้น ยังไงก็โดนบีบให้ผ่านการเห็นชอบอยู่ดี เหมือนรัฐไม่สนใจเสียงของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งและต่อต้านของคนในพื้นที่ในอนาคต...?

ปัจจุบันเงื่อนปัญหาสิ่งแวดล้อมบ้านเราก็มีหลากหลายมิติ ซับซ้อนยากที่จะแก้ไขให้คลี่คลายไปได้โดยง่ายมากมายอยู่แล้ว ถ้าหากไม่มีการวางแผนและมาตรการรองรับที่ดี แน่นอนว่าย่อมมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหา ตามมาอีกในอนาคตไม่มากก็น้อย คำถามสำคัญมีว่า...

การจัดการสิ่งแวดล้อมบ้านเราไปไม่ถึงสากล? แล้ว...สากลเขาทำยังไง

อาจารย์สนธิ มองว่า จุดอ่อนของการจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศ ไทยที่ผ่านมา “ประเทศไทย”...มีกฎหมายสิ่งแวดล้อมทั้งด้านมลพิษและทรัพยากรธรรมชาติหลายฉบับกระจายไปใน 13 กระทรวงแยกส่วนกันและไม่เคยนำมาบูรณาการร่วมกัน...ต่างคนต่างใช้ ต่างคนต่างทำ เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนเป้าหมาย

“การบังคับใช้กฎหมายที่ยังหย่อนยานและขาดประสิทธิภาพจนทำให้ขาดความเชื่อถือจากประชาชน...ผู้ยากไร้ผิดเสมอ”

...

อีกทั้งระบบการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ยังอ่อนแอ ถ้าประชาชนไม่ร้องเรียนให้เป็นประเด็นสาธารณะ เนื่องมาจาก เดือดร้อนจากการพัฒนาโครงการของรัฐหรือเอกชนแล้ว ส่วนใหญ่หน่วยงานรัฐก็จะไม่รู้หรือรู้ก็ไม่ค่อยใส่ใจ

นับรวมไปถึงการสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนมักจะไม่ต่อเนื่อง ส่วนใหญ่นิยมจัดเป็นครั้งคราวหรือจัดอีเวนต์เป็นครั้งคราวแล้วก็เลิกลากันไป ...เมื่อถึงเวลาค่อยว่ากันใหม่ ทั้งการให้ Incentive หรือ...การยกย่องผู้ประกอบการที่ทำเพื่อสังคมและชุมชนยังมีน้อยเกินไป...อย่างมากก็แค่ให้รางวัลยกย่อง

แต่การที่จะส่งเสริมแบบมีอิมแพ็กผลกระทบสูงยังไม่ค่อยมี เช่น การนำไปใช้เพื่อการลดหย่อนภาษีหรือให้สิทธิพิเศษด้านภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจ เป็นต้น

ทุกวันนี้...จึงเกิดการทำโชว์ภาครัฐมากกว่าการทำให้เกิดความยั่งยืน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เรายังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึง ในกระบวนการอนุมัติอนุญาตหลายโครงการจัดทำเป็นเพียง พิธีกรรมให้ครบองค์ประกอบว่ามีการทำตามกฎหมายแล้วเพียงเพื่อให้โครงการสามารถผ่านการอนุญาตจากส่วนกลางได้ จึงเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งของชุมชนในพื้นที่

...

คราวนี้ให้รู้กันต่อไปว่า...ประเทศพัฒนาแล้วเขาทำอย่างไร?

เริ่มจาก...เขาสร้างระบบตรวจสอบและถ่วงดุล หรือระบบ Check& Balance โดยหน่วยงานอนุญาตจะมีหน้าที่ในการส่งเสริมและดูแลโครงการให้ปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมอย่างดีที่สุด แต่หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม จะทำหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบและลงโทษแทน กรณีที่โครงการทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ถัดมา...กำหนดให้โครงการที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องทำประกันภัยด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทฯจะไปทำหน้าที่กำกับดูแลอย่างดีเพื่อไม่ให้เกิดมลพิษส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

กำหนดให้ทุกโครงการที่ปล่อยมลพิษต้องได้รับใบอนุญาตการปลดปล่อยมลพิษ โดยจะมีการกำหนดว่าแต่ละโครงการสามารถปล่อยมลพิษออกมาได้กี่ตันต่อปีหรือกี่กิโลกรัมต่อวันในพื้นที่นั้น

หากปล่อยออกมาเกินค่าที่กำหนดจะต้องจ่ายเงินค่าปรับ ตามที่กฎหมายกำหนด

เน้นอีกว่า...“ภาครัฐ” จะต้องสร้างระบบ “เครือข่ายประชาชน” ในการเฝ้าระวังปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละชุมชน ข้อมูลสารเคมี และการปลดปล่อยมลพิษของโครงการพัฒนาต้องเปิดเผยได้และระบบการขออนุญาตตั้งโครงการในพื้นที่ใดจะต้องจัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงและตกผลึกเป็นที่ยอมรับก่อน

...

จึงจะส่งไปให้ “ส่วนกลาง” ออกใบอนุญาต

ถัดมา...ให้องค์กรเอกชนหรือสมาคมด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆที่ขึ้นทะเบียน ไว้กับภาครัฐสามารถเป็นตัวแทนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทำการฟ้องคดีกับภาครัฐที่ละเลยการทำหน้าที่ได้

รวมทั้งฟ้องให้รัฐจ่ายค่าชดเชยหรือบังคับให้ผู้ก่อมลพิษต้องจ่ายค่าชดเชย

สุดท้าย...เป้าหมายการจัดการสิ่งแวดล้อมของภาครัฐต้องชัดเจนประกาศแล้วต้องทำ เช่น กำหนดเวลาในการงดใช้พลังงานสกปรก การเริ่ม ใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดโลกร้อน เป็นต้น มีนโยบายและแผนรองรับ สำคัญก็คือ...ถึงแม้จะมีการเปลี่ยน “รัฐบาล” แต่ “เป้าหมาย” ต้องไม่เปลี่ยน

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ บางเรื่องมนุษย์ไม่อาจคาดเดาได้ แต่บางอย่างเราสามารถเตรียมตัวรับมือได้ด้วยการวางแผน ...มาตรการรองรับที่ดี อย่าเอาแค่วัวหายแล้วรอล้อมคอก.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม