“โลกร้อนขึ้น”...อ่าวไทยจะเกิดแพลงก์ตอนบลูมบ่อยขึ้น ปลาตายมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงนี้ สาเหตุมาจากอะไร?

ข้อแรก...ช่วงฤดูฝนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยระหว่างกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ทำให้กระแสน้ำในอ่าวไทยพัดจากทะเลภาคใต้เข้าสู่ทะเลภาคตะวันออก

ประกอบกับฝนตกพัดพาตะกอนจากแม่น้ำชุมพร แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง ลงสู่ทะเลอ่าวไทยนำสารอาหารประเภทสารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม (N, P, K) จำนวนมากลงอ่าวไทยด้วยและพัดตามกระแสน้ำไปรวมกันที่ก้นอ่าวไทยทะเลในพื้นที่จังหวัดชลบุรี

ข้อถัดมา...โลกร้อนขึ้นเฉลี่ยถึง 1.2 องศาก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมขณะที่อุณหภูมิในมหาสมุทรโลกขึ้นเฉลี่ยถึง 21 องศาเช่นกัน โดยเฉพาะที่ผิวทะเล ทำให้สารอาหาร N P และ K ลอยขึ้นที่ผิวน้ำเช่นกัน นอกจากนี้ จากการวิจัยพบว่า “ก๊าซ CO2” ในอากาศจะถูกน้ำทะเลดูดซับไว้ถึง 40%

สภาวะแวดล้อมเช่นนี้ทำให้ “Phytoplankton” หรือ “แพลงก์ตอน” ที่สังเคราะห์แสงได้สังเคราะห์แสงได้มากขึ้นและเมื่อได้รับสารอาหาร (N, P, K) ปริมาณมาก จึงเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้พื้นที่ใต้ทะเลขาดก๊าซออกซิเจน...

...

“หลังจากนั้นไม่นานแพลงก์ตอนจะเริ่มตายลงมีกลิ่นเหม็นคาว ก๊าซออกซิเจนในทะเลลดลงทำให้สัตว์ทะเลตายเป็นจำนวนมาก”

ข้อสาม...แพลงก์ตอนบลูมช่วงต้นฤดูฝน (พ.ค.-มิ.ย.) จนถึงปลายฤดูฝน (ก.ย.-ต.ค) จะเกิดขึ้นไล่มาตั้งแต่ทะเลจังหวัดชุมพร, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี, ทะเลก้นอ่าวที่ชลบุรี...บางแสน, บางพระ, ศรีราชา, อ่าวอุดม, แหลมฉบัง, บางละมุง, บางเสร่

ประเด็นสำคัญน่าสนใจมีว่า...ขณะที่ช่วงนี้มี “น้ำมันรั่ว” ไหลจากโรงกลั่นลงทะเลปริมาณมากด้วย ยิ่งทำให้ปลาตายหนักกว่าเดิมหลายเท่า

ข้อสี่...โลกร้อนขึ้น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น มีส่วนทำให้ทะเลอ่าวไทยในช่วงฤดูฝนเกิดแพลงก์ตอนบลูม ทำให้น้ำทะเลเป็นสีเขียวบ่อยขึ้น...ระบบนิเวศในอ่าวไทยเปลี่ยนแปลง

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย สะท้อนมุมมองต่อเนื่องไปถึงประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หนักหนาสาหัสขึ้นทุกวันในเรื่องนี้ย้ำอีกว่า

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ กรณีคราบน้ำมัน...บวก...สาร Dispersant (สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันในทะเล)...บวก...แพลงก์ตอนบลูม รวมกันลอยขึ้นมาที่ทะเลนาเกลือใกล้พัทยา...มีผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งอย่างแน่นอน...อย่าโยนบาปให้แก่แพลงก์ตอนบลูมอย่างเดียว

ให้รู้ไว้อีกว่า...แพลงก์ตอนบลูมรวมกับคราบน้ำมันผสมกับน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน...ผลเลยเป็นอย่างนี้ ภาพข่าวเช้าวันที่ 8 ก.ย.66 เห็นคราบน้ำมันรวมกับแพลงก์ตอนบลูมพัดช่วงน้ำขึ้นเข้ามาที่ริมหาดศรีราชาติดกับหาดบางพระ ชลบุรี จะทำให้ประมงกลุ่มเลี้ยงหอยแมลงภู่ได้รับผลกระทบอย่างมาก

บ่ายวันที่ 8 ก.ย.66 ริมทะเลหาดบางพระช่วงน้ำลง ปลาตายมหาศาล ปลาบางส่วนเป็นปลาที่อยู่ใต้น้ำแพลงก์ตอนบลูมแย่งก๊าซออกซิเจนในน้ำ ส่วนคราบน้ำมันปกคลุมผิวน้ำทำให้ก๊าซออกซิเจนในอากาศแพร่กระจายลงน้ำทะเลไม่ได้ แถมปลาบางส่วนยังกินละอองน้ำมันผสมกับสารเคมีขจัดคราบน้ำมันใต้ทะเลเข้าไปอีก

“เลยตายมากเป็นประวัติการณ์...และเป็นประวัติศาสตร์ของพื้นที่ภาคตะวันออก”

 ธรรมชาติ...มนุษย์ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่มนุษย์สามารถเลือกหรือปฏิบัติ ไตร่ตรองแก้ไขปัญหาตามเหตุผลอันสมควรได้ อาจารย์สนธิ บอกว่า นั่นก็คือข้อควรระวังของการใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันในทะเล เริ่มจาก...การใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันในทะเล (dispersant) ฉีดพ่นลงไป

เพื่อลดแรงตึงผิวของน้ำมันที่ลอยในทะเล จะทำให้น้ำมันรวมกับสารเคมีกระจายตัวกลายเป็นหยดหรือละอองน้ำมัน (oil droplet) จมลงสู่ใต้ทะเล...หากทะเลมีความลึกเพียงพอและประกอบกับคลื่นลมแรงแบคทีเรียจะย่อยสลายน้ำมันได้หมดไม่กระทบกับสัตว์พืชทะเล

แต่หากใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันใกล้ฝั่งมีระยะไม่เกิน 5 กิโลเมตร จะทำให้หยดน้ำมันถูกย่อยสลายไม่ทันจะจับตัวกลายเป็นก้อนของน้ำมันเหลวจมลงใต้ทะเล อาจไปปกคลุมหญ้าทะเลหรือปะการังหรือไปปกคลุมกับสัตว์ทะเลได้

เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 7 วัน...อาจจะพัดเข้าฝั่งจนกลายเป็น “ก้อนน้ำมันเหนียว” หรือ “Tar ball” ขนาดเล็กจำนวนมากสร้างความสกปรกให้ชายหาดแหล่งท่องเที่ยวได้

...

กรณีน้ำมันรั่วล่าสุดนี้ ตามมาตรา 96 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดไว้ชัดเจนเรื่องของผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย โดยมาตรา 97 ให้หน่วยงานราชการสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกรณีทรัพยากรทางทะเลเสียหายหรือถูกทำลายได้

สะท้อนตอกย้ำต่อเนื่องไปถึง...ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬจะตามมาหลังจากน้ำมันรั่วใหญ่ โดย “Dinoflagellates” เป็นสาหร่ายพิษ ประเด็นสำคัญมีว่า...มีผลการวิจัยในต่างประเทศที่ Northern Gulf of Mexico พบความเชื่อมโยงระหว่างคราบน้ำมันจำนวนมากในทะเลและการเจริญเติบโตของสาหร่ายที่มีพิษ (HABs.)

พบว่า “น้ำมันดิบ” ที่รั่วไหลถูกสารเคมีกำจัดคราบน้ำมันในทะเล ลดแรงตึงผิวกลายเป็นละอองน้ำมันตกลงไปปกคลุมใต้ทะเล ทำให้มีผลกระทบต่อแพลงก์ตอนพืชที่สังเคราะห์แสงและสร้างอาหารได้เอง

รวมทั้งสัตว์ที่กินแพลงก์ตอนต่างๆเป็นอาหารและสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ล่าจนไม่สามารถเจริญเติบโตและอ่อนแอลง

ทำให้สาหร่าย “dinoflagellates” ซึ่งเป็นสาหร่ายที่มีผนังเซลล์เป็นเซลลูโลสที่ทนต่อน้ำมันดิบและสารขจัดคราบน้ำมันได้ดีกว่า เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เกิดเป็นปรากฏการณ์ “ขี้ปลาวาฬ” ในทะเลหลังจากน้ำมันรั่วไหลแล้วภายใน 1 เดือน...ขึ้นกับว่าน้ำมันรั่วไหลและใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันมากน้อยแค่ไหน

...

นอกจากนี้แล้ว “dinoflagellates” ยังเป็นสาหร่ายเซลล์เดียวชนิดหนึ่ง ผนังเซลล์เป็นเซลลูโลสสามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้ มีคลอโรฟิลล์เอและซี มักมีสีเหลือง-เขียว น้ำตาลหรือแดง เป็นแพลงก์ตอนพืชในน้ำจืดและในทะเลไดโนแฟลกเจลเลตสีแดง เช่น Gonyaulax

เมื่อมีการเจริญมากขึ้นทำให้น้ำเป็นสีน้ำตาลหรือสีแดงเรียกว่า...  “Red tides” ซึ่งจะผลิตสารพิษที่เป็นพิษต่อระบบนิเวศในทะเล

 ปุจฉาสำคัญจากกรณีคราบน้ำมันจากการรั่วไหลของโรงกลั่นน้ำมัน ยังต้องกังวลไปถึงการเฝ้าระวังการปนเปื้อนโลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน กำมะถันในอาหารทะเล หน่วยราชการต้องสุ่มตรวจก่อนว่าในเนื้อสัตว์มีค่าเกินมาตรฐานหรือไม่ และต้องแจ้งประชาชนให้ทราบด้วย

ทั้งหมดเหล่านี้คือข้อกังวลในปัญหาสิ่งแวดล้อม เหตุ “น้ำมันรั่ว” พื้นที่ศรีราชา จ.ชลบุรี ครานี้...ทำตามมาตรการสิ่งแวดล้อมครบหรือไม่? แล้วใครจะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น.

...

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม