ปรากฏการณ์ แพลงก์ตอนบลูมรอบที่สอง ทำน้ำทะเลศรีราชา เปลี่ยนเป็นสีเขียวทั้งหาดและส่งกลิ่นเหม็น สัตว์ทะเลชายฝั่งขาดออกซิเจน ลอยตายจำนวนมาก คาดมาจาก ”สภาพอากาศที่แปรปรวน”
เวลา 16.00 น. วันที่ 6 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณที่ชายทะเลศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ได้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี ส่งผลให้น้ำทะเลเป็นสีเขียว มีกลิ่นเหม็น ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าว ชาวบ้านเรียกว่า "ขี้วาฬ" หรือ "แพลงก์ตอนบลูม" ซึ่งปรากฏการณ์ธรรมชาติในลักษณะนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่ทะเลศรีราชาเมื่อเดือนที่ผ่านมา น้ำทะเลเพิ่งกลับมาดีขึ้นได้เพียง 3 สัปดาห์ก่อนจะกลับมาเป็นสีเขียวอีกครั้ง
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ในพื้นที่อำเภอศรีราชา มีสภาพอากาศแปรปรวนและมีคลื่นลมแรง ทำให้ชาวประมงต้องหยุดออกหาสัตว์น้ำ และมีคลื่นแรงซัดแพลงก์ตอนบลูมสีเขียวในน้ำทะเลที่มีเป็นจำนวนมากนั้นเสียและลอยขึ้นมา ทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียว และยังส่งผลให้ออกซิเจนในน้ำน้อยลง เป็นเหตุให้สัตว์ทะเลชายฝั่งขาดออกซิเจนและปลาบางชนิดลอยตายบนชายหาด เช่น ปลากระบอก ปลาหัวตะกั่วฯ
...
ส่วนสาเหตุ คาดว่าเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนดังกล่าว เมื่อ 2-3 วันก่อน สภาพอากาศที่หนาวเย็นลง และในทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ทำให้ชาวประมงต้องหยุดออกหาปลา ก่อนจะเกิดปรากฏการณ์ "แพลงก์ตอนบลูม" น้ำทะเลกลายเป็นสีเขียวและมีกลิ่นฉุนรุนแรง