ภาพสะพานลอยน้ำ “เกาะลอย” อันใหม่ มูลค่า 240 ล้าน กลายเป็นภาพไวรัลในสื่อสังคมโซเชียล...เป็นเสมือนภาพเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมบรรยากาศความงดงามของเกาะลอยและอ่าวศรีราชาในเร็วพลัน

ผสมผสานกับสุ้มเสียงผู้คนในโลกออนไลน์ที่มีทั้งชื่นชมและคัดค้าน พร้อมมีการแสดงความคิดเห็น...มีการโพสต์ เรื่องราวนี้เอาไว้อย่างมากมายหลากหลายประเด็น

โดยเฉพาะประเด็นอายุสะพานไม่ถึง 10 ปี สะพานแพงเกินจริงหรือไม่ คุ้มค่าต่อการสร้างไหม อยากให้นำงบไปปรับปรุงด้านอื่นๆมากกว่า...ด้วยงบประมาณ 240 ล้านบาท?

จบท้ายที่ ฉัตรชัย ทิมกระจ่าง นายกเทศมนตรีเมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี เข้าแจ้งความต่อตำรวจให้ดำเนินคดีกับเกรียนคีย์บอร์ดหลายรายในข้อหา พ.ร.บ.คอม และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

“เมืองศรีราชายังมีอีกหลายส่วนที่ทางเทศบาลควรเร่งดำเนินการ มากกว่าการสร้างสะพานลอยน้ำ” สราวุธ สิริชัยเจริญกล หนึ่งในผู้ที่ โพสต์ แสดงความไม่เห็นด้วยต่อกรณีการสร้างสะพาน 240 ล้านเปิดประเด็น

สราวุธ สิริชัยเจริญ
สราวุธ สิริชัยเจริญ

...

ต้องขออธิบายก่อนว่า นายกเทศมนตรีเมืองศรีราชาคนเก่าชื่อ ธานี รัตนานนท์ เป็นนายกเทศบาลศรีราชามา 10 กว่าปี ตั้งแต่ พ.ศ.2554-2564 มีจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลที่สนับสนุน 6 คน ส่วนอีก 12 คนไม่ค่อยสนับสนุน เพราะฉะนั้นงบประมาณที่ต้องการนำมาบริหารเมืองศรีราชาบางเรื่องก็ติดขัด

เพราะอีกฝั่งไม่ยกมือผ่านให้ในบางเรื่องหรือบางโครงการ ต้องวิ่งหางบมาพัฒนาด้วยตนเอง สถานะของเทศบาลศรีราชาขณะนั้นจึงอยู่ในสภาพนายกเสียงข้างน้อย มีอำนาจบริหารแต่ไม่มีเงิน

พอมีการเลือกตั้งเทศบาลพร้อมกันทั่วประเทศครั้งล่าสุด ประมาณปี พ.ศ.2564 ฉัตรชัย ทิมกระจ่าง สามารถชนะเลือกตั้งเป็นนายกพร้อมทั้งพาลูกทีมเข้าสภาไปได้อีก 17 คน เหลืออีก 1 คน ที่อยู่กลุ่มการเมืองอื่น ซึ่งเรียกได้ว่า คุมเสียงทั้งหมดในสภา

ตรงนี้ถือเป็นโอกาสดีของศรีราชาที่จะได้กลับมาพัฒนาท้องถิ่นของศรีราชาให้งดงามขึ้นไป ซึ่งระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่าเทศบาลศรีราชา บริหารงานดีบ้าง ไม่ดีบ้าง อันนี้ก็ต้องมีทั้งชมและตำหนิ

ส่วนประเด็นสะพาน 240 ล้าน ที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ นั้น ต้องบอกว่า มีหลายประเด็นต้องค่อยๆคิดตามให้มากๆ...ประการแรก สะพานแห่งนี้สร้างด้วยวัสดุลอยน้ำมีส่วนผสมของ HDPE ซึ่งเป็นวัสดุชนิดเดียวกับท่อประปา เป็นสะพานลอยน้ำชั่วคราวหรือจะเรียกตามประสาชาวบ้านว่า “แพลอยน้ำ” ก็คงได้

ซึ่งทางเทศบาลบอกว่า อายุสะพาน หรือแพลอยน้ำที่เกาะลอยนั้น ตามสถิติของประเทศเกาหลีอยู่ได้ประมาณ 10 ปีก็เสื่อมสภาพ ส่วนราคาสะพานมีมูลค่าการก่อสร้างสูงถึง 240 ล้านบาท

แม้เทศบาลจะบอกว่าจริงๆแล้ว นำงบเทศบาลออกมาใช้สร้างสะพานเพียง 80 กว่าล้าน เงินที่เหลือดึงงบมาจากราชการส่วนอื่นๆ มาช่วย เช่น งบของ EEC ก็อยากจะถามว่า แล้วเงินหรืองบส่วนอื่นๆ... ไม่ใช่ภาษีของประชาชนหรือ?

สราวุธ มองว่า เมืองศรีราชาต้องปรับปรุงในอีกหลายส่วน เทศบาลมีงบประมาณอยู่ในคลัง 1,000 ล้าน เงินตรงนี้เป็นเงินที่ตกค้างสืบทอดมาจากเทศบาลชุดก่อนที่ไม่ได้ใช้...

“เงินพันล้านนี้ควรที่จะต้องนำมาใช้ในส่วนที่เป็นประโยชน์ที่จับต้องได้จริงๆ เช่น เทศบาลมีการสร้างสวนสาธารณะขึ้นมาใหม่ อันนี้เห็นด้วย จะปรับปรุงเกาะลอย อันนี้ก็เห็นด้วย”

แต่สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนเทศบาลจะลืมไป คือการปรับปรุงตลาดสดและพื้นที่โดยรอบ สราวุธ บอกว่า อยากให้พี่น้องมาเดินตลาดศรีราชามาดูสภาพความสะอาด ความสวยงามของสถานที่ ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร

ความจริงอาหารทะเลศรีราชาขึ้นชื่อมาก่อนอ่างศิลาหรือที่อื่นๆ เสียอีก เมืองศรีราชาเรามีปลาเก๋า ตัวขนาด 25-30 กิโลกรัม ขาย ปูม้า กุ้ง หมึก หอย อาหารประมงชายฝั่งสดๆ แต่ตลาดที่วางขายกลับมีสภาพเก่า ทรุดโทรม ทุกวันนี้...ตลาดขายได้เฉพาะลูกค้าประจำตั้งแต่ตี 4 ไม่เกินสิบโมงก็เลิกเพราะไม่มีคนเดิน

ถ้าเทศบาลมีเจตนาที่จะพัฒนาหรือส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนจริงๆ ควรนำงบที่จะสร้างสะพาน 240 ล้าน เข้าปรับปรุงตลาดทำให้สะอาดดูดีเสียก่อน อาจจะไปดูงานของอ่างศิลาหรือที่อื่นๆแล้วนำมาปรับปรุง

...

“เมื่อตลาดสะอาด สวยงาม ทันสมัย มีของทะเลดีดี ราคายุติธรรม ลูกค้าก็จะมาอุดหนุน อันนี้ชัดเจน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ยั่งยืน”

พุ่งเป้าไปที่ “โครงการสะพาน 240 ล้านบาท” แม้เทศบาลจะชี้แจงว่า มีขั้นตอนการทำงานที่ถูกต้องมีการอ้างอิงราคากลาง ซึ่งชาวบ้านก็ยังงงๆอยู่เหมือนกันว่าจะอ้างอิงราคากลางได้อย่างไร ก็ในเมื่อเทศบาลบอกว่าเป็นวัสดุที่มาจากต่างประเทศมีประเทศเกาหลีใช้เป็นต้นแบบ

นอกจากนี้ ก็ยังมีประเด็นที่ยังข้องใจซึ่งเป็นความกังวลสำคัญคืออายุการใช้งาน ความไม่คงทนของสะพาน ประเด็นสำคัญก็คือ ความคุ้มค่า ความคุ้มทุน ในการสร้างสะพานนั้นจะมีมากน้อยเพียงใด

คำกล่าวที่ทางเทศบาลบอกว่า คนมาชมสะพาน 1 คน จะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาในศรีราชา 100 บาท สราวุธ ขอตั้งข้อสงสัยว่า เงินมันจะหมุนมาได้อย่างไร 100 บาท ในเมื่อ...ค่าสะพานไม่เสีย ค่าจอดรถไม่มี นักท่องเที่ยวเดินชมสะพานเสร็จ เขาก็ไปนอนบางแสน พัทยา...แล้ว “ศรีราชา” จะได้อะไร

...

“ผิดกับการพัฒนาปรับปรุงตลาดที่จะมีการหมุนเวียนของเงินตราได้ดีกว่าอย่างชัดเจน ลองนึกภาพตาม ถ้าหากนักท่องเที่ยวหรือแม้แต่คนในท้องที่เข้ามาตลาด ทุกคนเมื่อเจอของที่ต้องการ ต้องควักสตางค์ออกมาใช้แน่นอน อันนี้เม็ดเงินกระจายเห็นได้ชัดกว่า”

ทุกวันนี้ เด็กรุ่นใหม่ๆของศรีราชารู้จักตลาดสดศรีราชาหรือไม่รู้ไหมตรงไหนมีอะไรขาย? คำถามนี้หลายๆคนอาจจะตอบแทนได้เลยว่า คำตอบก็คือ “ไม่รู้...เขาบอกไม่เดิน เหม็น สกปรก สุดท้ายไปซุปเปอร์มาร์เกต เสร็จนายทุนหมด”

สราวุธ ย้ำว่า สะพานใหม่ที่ว่านี้...มาผิดเวลา สะพานนี้อาจจะสวยหรือคุ้มค่าในสายตาผม เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างในศรีราชาได้รับการแก้ไข หรือฟื้นฟูให้พร้อมกว่านี้

อีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้เทศบาลบอกความจริงให้ประชาชนทราบก็คือ ปัญหาหลายอย่างที่อยู่ในหน้าที่ของเทศบาลที่ยังไม่ได้รับแก้ไขมาตลอด 10 ปีนั้น...ล้วนมาจากปัญหาการเมืองท้องถิ่นของศรีราชาเอง

ทุกๆอย่างดูเหมือนจะเกี่ยวพันกันจนทำให้ “เมืองศรีราชา” ที่มีงบประมาณเป็น 1,000 ล้าน แต่การเมืองขัดแย้งเสียจนนำงบประมาณมาบริหารงานส่วนท้องถิ่นไม่ได้

สราวุธ ฝากทิ้งท้ายว่า นาทีนี้ นั่งเถียงกันไปก็ไม่มีวันจบว่า สะพาน 240 ล้านโปร่งใส ไม่โปร่งใส? คุ้มไม่คุ้ม? แต่ในเมื่อเทศบาลบอกว่า มีความสุจริตใจในการสร้างสะพาน 240 ล้านนั้น ก็ควรเปิดโอกาสให้กับหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบ โดยเฉพาะ ป.ป.ช.อยากให้เข้ามาดูแลสอบสวนว่าโครงการนี้เป็นอย่างไร

เพราะหากปล่อยให้สะพาน 240 ล้านเป็นประเด็นต่อไป ก็จะมีแต่ข้อครหา เป็นสิ่งมัวหมอง คาใจ ของพี่น้องชาวศรีราชาตลอดไป จนไม่มีวันจบและไม่มีวันสิ้น.

...