กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการสุ่มตรวจวิเคราะห์หาสารปนเปื้อนซีเซียม-137 ทั้งในดิน อาหาร น้ำ และผลผลิตทางการเกษตร บริเวณโดยรอบของพื้นที่ และในตลาดสด ช่วงรัศมี 100 เมตร ถึง 5 กิโลเมตร ในจังหวัดปราจีนบุรี ไม่พบสารปนเปื้อนซีเซียม-137

จากกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 (Cesium-137) สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำในพื้นที่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งมีการแจ้งความเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ต่อมามีการนำเสนอข่าวและการค้นหาโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง กระทั่งตรวจพบสารซีเซียมในถุงขนาดใหญ่ของโรงหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง ในเขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ส่งผลให้ประชาชนมีความวิตกกังวลถึงผลกระทบของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับมาตรการด้านความปลอดภัย กฎหมาย กฎระเบียบ ในการควบคุมของเสียและกากอุตสาหกรรม การเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในกรณีดังกล่าว

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะล่าสุดชาวสวนผลไม้ พ่อค้าและแม่ค้า เริ่มถูกทยอยยกเลิกออเดอร์ผลไม้ เนื่องจากประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนของสารซีเซียม-137 ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งกรมอนามัยได้ลงพื้นที่โดยสำนักคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมด้วย ศูนย์อนามัยที่ 6 จังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่างตัวอย่าง ดิน อาหาร น้ำ ผลผลิตทางการเกษตรในบริเวณโดยรอบและนำส่งตรวจโดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
             
ดร.นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากผลการตรวจ จำนวนกว่า 20 ตัวอย่าง ด้วยการตรวจวัดระดับ Radioisotope Cs137 โดยใช้ Gamma Spectrometry, Reference : In-House Method Base ทั้งในดิน อาหาร น้ำ และผลผลิตทางการเกษตร บริเวณโดยรอบของพื้นที่ และในตลาดสด ช่วงรัศมี 100 เมตร ถึง 5 กิโลเมตร ในจังหวัดปราจีนบุรี ไม่พบสารปนเปื้อนซีเซียม-137 ในอาหารและน้ำทุกชนิด กรมอนามัยจึงขอให้ประชาชนมั่นใจและสามารถนำอาหารและน้ำในพื้นที่ดังกล่าวมาอุปโภค บริโภคได้ตามปกติ สำหรับการเฝ้าระวังตนเอง ยังขอให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดระยอง หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ถ่ายเหลวมากกว่า 2 ครั้ง หรือผิวหนังอักเสบ แดง สามารถเข้ารับการรักษาเพื่อประเมินอาการตามสิทธิ์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านได้

...