ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจยึด "กรดซัลฟูริก" ลอตใหญ่ 126,000 กิโลกรัม ต้นทางอินเดีย ปลายทางเมียนมา ไม่มีใบนำผ่านวัตถุอันตรายมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่
ตามที่รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้บูรณาการทำงานของภาครัฐเพื่อสกัดกั้นสารเคมีเข้าสู่ขบวนการลักลอบผลิตยาเสพติด นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ได้สั่งการให้ นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ รองอธิบดีฯ รษก.ทปษ.ด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร นางนันท์ฐิตา ศิริคุปต์ รองอธิบดีฯ นายถวัลย์ รอดจิตต์ ผอ.กองสืบสวนและปราบปราม นายสุรเดช ตรงศิริวิบูลย์ ผอ.สนง.ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และทุกหน่วยงานของกรมฯ มีมาตรการควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ยาเสพติดอย่างเข้มงวด โดยที่การควบคุมทางศุลกากรนั้นจะต้องไม่กระทบหรือมีผลกระทบน้อยที่สุดกับภาคอุตสาหกรรมที่ถูกกฎหมายนั้น
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายสุรเดช ตรงศิริวิบูลย์ ผอ.สนง.ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมด้วย นายวาริส วิสารทานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบสินค้า นายประสิทธิ์ ดีจงเจริญ ผอ.ส่วนควบคุมทางศุลกากร นายฐิติพงศ์ คำผุย ผอ.ส่วนบริการฯ 1 นายเศรษฐวุฒิ จันทร์วัฒนะ ผอ.ศูนย์เอกซเรย์ฯ ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงาน ป.ป.ส. กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ศูนย์รักษาความปลอดภัย ด่าน อย.ท่าเรือแหลมฉบัง ทำการตรวจยึดสินค้าผ่านแดน “กรดซัลฟูริก” ปริมาณ 126,000 กก. จำนวน 5 ตู้คอนเทนเนอร์ มูลค่าของกลางกว่า 12.6 ล้านบาท
นายจุลพงษ์ กล่าวว่า การนำเข้า ส่งออก ผ่านแดน สินค้าอันตรายประเภทเคมีภัณฑ์สำหรับการผลิตในอุตสาหกรรมต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้นำไปใช้เป็นสารเคมีตั้งต้นในขบวนการลักลอบผลิตยาเสพติดได้
นายสุรเดช กล่าวว่า สนง.ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ทำการตรวจสอบสินค้าผ่านแดนประเภทวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 “กรดซัลฟูริก” ต้นทางอินเดีย ปลายทางพม่า ซึ่งในขณะปฏิบัติพิธีการศุลกากร ผู้ขอผ่านแดนมิได้นำใบนำผ่านวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 (แบบ วอ./อก.28) มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ฯ แต่อย่างใด จึงได้กักสินค้าเพื่อตรวจสอบอย่างละเอียดและนำมาสู่การตรวจยึดในวันนี้ ซึ่งในกรณีนี้เป็นความผิดฐานนำสินค้าที่ผ่านราชอาณาจักร หรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น อันเป็นความผิดตามมาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 มาตรา 102 มาตรา 104 และมาตรา 106 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ประกอบประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย 2556
ด้าน นายประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าตั้งแต่ปีงบฯ 2566 สนง.ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง สามารถตรวจยึดสินค้าสารเคมี “โซเดียมไซยาไนด์” 220,000 กก. ที่พยายามส่งออกไปยังพม่า และจับกุมพืชยาเสพติด 2 แฟ้มคดีที่พยายามลักลอบนำเข้า คือ “เมล็ดฝิ่น” 26,000 กก. และ “ใบคัตอบแห้ง” 5,600 กก. รวมมูลค่าของกลางกว่า 112 ล้านบาท
...