สืบเนื่องจากประเด็นร้อนแรง เรื่องแท่งเหล็กเครื่องตรวจวัดควันที่มีส่วนประกอบของสารกัมมันตรังสี “ซีเซียม–137” หายไปจากโรงงานไฟฟ้าที่ปราจีนบุรี แล้วก็พยายามหากันอยู่สักระยะหนึ่ง แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้...
แล้วจู่ๆก็มีการแถลงข่าวเรื่องพบสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นเหล็กของโรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่งที่ปราจีนบุรี ซึ่งข้อสรุปส่วนหนึ่งของการแถลงข่าวคือ ไม่แน่ใจว่า...สารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่ตรวจพบนั้นมาจากอุปกรณ์ที่หายไปจากโรงงานไฟฟ้านั้นหรือไม่?
ผู้สันทัดกรณีหนึ่งใน “เครือข่ายคนรักษ์นครนายก มรดกธรรมชาติ” ที่เคยสื่อสะท้อนเงื่อนปัญหาใหญ่ยักษ์ต่อกรณี...“สำนักงานคลองห้า” ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาธาตุหายาก ตั้งอยู่ที่ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และกรณีค้างคา “เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์” ที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก
ขอตั้งข้อสังเกตบทสรุปข้างต้น...นั่นหมายความว่ามีสองประเด็นที่ชัดเจนคือ ข้อหนึ่ง...โรงงานหลอมเหล็กมีกากฝุ่นเหล็กที่มีสารกัมมันตรังสี ซีเซียม–137 ปนเปื้อนจำนวนหนึ่ง ข้อที่สอง...แท่งตรวจวัดควันที่มีสารกัมมันตรังสีซีเซียม–137 เป็นองค์ประกอบที่หายไปยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
...
จากประเด็นที่กล่าวมามีหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องกับการใช้สารกัมมันตรังสี อยู่ 3 หน่วยงานที่อยากจะกล่าวถึง คือ 1.โรงงานไฟฟ้า/โรงงานหลอมเหล็ก 2.สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และ 3.สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน.
ย้ำว่า...“โรงงานไฟฟ้า” คือผู้ใช้อุปกรณ์วัสดุรังสีมีหน้าที่ต้องดูรักษาและรายงาน ปส. ตามช่วงระยะที่ ปส.ออกใบอนุญาตมาตามกฎหมาย ขั้นตอนนี้สำคัญเพราะมีบทลงโทษระบุไว้หากปล่อยปละละเลย
และ ปส.ก็ต้องตรวจสอบอุปกรณ์วัสดุรังสีดังกล่าวรายงานนั้นเป็นช่วงตามระยะที่กำหนดในใบอนุญาตเช่นกัน ในฐานะผู้กำกับดูแล กิจกรรมด้านนิวเคลียร์และรังสีทั่วประเทศ
หากเกิดความเสียหายใดๆทั้งสองหน่วยงานนี้ต้องรับผิดชอบ เช่นกรณีโคบอลต์ 60 ที่สมุทรปราการ เมื่อปี พ.ศ.2534 ซึ่ง ปส.และบริษัทเอกชนต้องชดใช้ค่าเสียหายจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
วกกลับมาที่กรณีโรงหลอมเหล็กเรียกได้ว่าแทบจะเป็นคนละเรื่องกับเรื่องเครื่องแท่งเหล็กตรวจวัดควันของโรงงานไฟฟ้าแต่มีเพียงคำว่า “สารกัมมันตรังสีซีเซียม–137” เป็นตัวเชื่อม ซึ่งในขบวนการหลอมเหล็กแล้วมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีนั้นไม่จำเป็นว่าต้องเป็นสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 เท่านั้น...
“สารกัมมันตรังสีอื่นๆก็สามารถปนเปื้อนได้เช่นกัน”
การปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในระบบหลอมเหล็กมาได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ กากกัมมันตรังสีที่ใช้แล้ว กากกัมมันตรังสีตามธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ทั่วไป เช่น เครื่องตรวจจับควัน เป็นต้น...อาจจะนำเข้าจากต่างประเทศหรือภายในประเทศไทย จากนั้นเข้าสู่การหลอมในอุณหภูมิที่สูงราว 1,000-1,200 องศาเซลเซียส
แล้ววัสดุอื่นๆที่มีจุดหลอมเหลวต่ำกว่าก็จะกลายเป็นไอควัน จากไอควันดังกล่าวก็จะถูกกรองด้วยห้องดักจับ...เมื่อปริมาณเยอะขึ้นเกิดเป็นฝุ่นสีแดง ซึ่งเรียกว่าฝุ่นเหล็ก และฝุ่นเหล็กดังกล่าวมีองค์ประกอบแร่ธาตุอื่นๆด้วย เช่น สังกะสี ฝุ่นดังกล่าวจะถูกส่งไปยังโรงงานแปรสภาพเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
แต่...หากปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีก็จะกระทบไปทั้งลอตที่หลอมนั้น ก็จะถูก ปส.ดำเนินการให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินิวเคลียร์ ในฐานผู้ก่อกัมมันตรังสี
นั่นคือต้องส่งหน่วยผู้รับผิดชอบในการจัดการวัสดุปนเปื้อนกัมมันตรังสีคือสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ซึ่ง สทน.ก็นำเข้าสู่ขบวนการจัดการกากกัมมันตรังสีกันต่อไป ซึ่งมีวิธีการที่หลากหลาย
...
ในการจัดการกากกัมมันตรังสีวิธีคือการลดปริมาณโดยการเผา บีบอัด แล้วปิดผนึก แล้วแต่ประเภทของกากกัมมันตรังสี ความเข้ม และค่าครึ่งชีวิตของสารกัมมันตรังสีแต่ละประเภท แล้วนำไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัย...โดยจะรอให้ระยะเวลาเท่านั้นเป็นสิ่งที่จะทำให้กากกัมมันตรังสีหมดสภาพในที่สุดตามค่าครึ่งชีวิตของมัน
เช่น ซีเซียม–137 ค่าครึ่งชีวิต 30 ปี...ก็คิดง่ายๆคือคูณ 10 ก็ราว 300 ปี วัสดุปนเปื้อนนั้นก็จะหมดสภาพการเป็นวัสดุกัมมันตรังสี
ขอย้ำอีกครั้งในปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีใดๆ ที่จะสามารถจัดการสารกัมมันตรังสีให้หมดไปได้ มีเพียงใช้ระยะเวลาให้มันเสื่อมไปตามค่าครึ่งชีวิตเท่านั้น ซึ่งสารกัมมันตรังสีบางชนิดค่าครึ่งชีวิตสั้น แต่บางชนิด ยาวนานมาก เช่น โคบอลต์ 60 ค่าครึ่งชีวิต 5.3 ปี กล่าวคือทุกๆ 5.3 ปี สารกัมมันตรังสีจะลดลงครึ่งหนึ่งไปเรื่อยๆ
แต่บางชนิดยาวนานมาก เช่น ยูเรเนียม ทอเรียม กลุ่มนี้มีค่า ครึ่งชีวิตเป็นหลายพันล้านปีขึ้นไป ดังนั้น...ความรับผิดชอบทั้งสามหน่วยงานคือผู้ใช้สารกัมมันตรังสี (โรงงาน) ผู้กำกับดูแลกิจกรรมนิวเคลียร์และกัมมันตรังสี (ปส.) และหน่วยงานจัดการกากกัมมันตรังสี (สทน.) ต้องมีความรับผิดชอบสูงมาก
โดยเฉพาะหน่วยงานกำกับดูแล ต้องมีความรับผิดชอบสูงเป็นพิเศษ
คำถามสำคัญมีว่า...ปัจจุบันนำกากกัมมันตรังสีไปเก็บไว้ที่ไหน?
ข้อมูลที่ได้จากแหล่งข่าวคนเดิมระบุว่า ปัจจุบันกากกัมมันตรังสีที่จัดการแล้ว ถูกนำมาเก็บเพื่อรอเวลาให้หมดสภาพความเป็นสารกัมมันตรังสี อยู่ทั้ง 3 พื้นที่สำนักงานของสำนักงาน สทน. ได้แก่ สำนักงานบางเขน 2 อาคาร สำนักงานเทคโนธานี 2 อาคาร สำนักงานใหญ่องครักษ์ 1 อาคาร
...
ข้อสังเกตหนึ่งคือ อาคารกากฝุ่นเหล็กกัมมันตรังสีซีเซียม–137 เพิ่งถูกสร้างขึ้นไม่กี่ปีที่ผ่านมาโดยอ้างอิงจากเอกสารรายงานประจำปีของ สทน. ในปี 2563 หน้า 88
ข้อ 1.11 แผนงานระยะสั้นการจัดการฝุ่นเหล็กเปื้อนรังสีซีเซียม–137
คณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ อนุมัติหลักการโครงการจัดสร้างโรงเก็บกากกัมมันตรังสีและอนุมัติงบประมาณการก่อสร้างจำนวน 3,945,023.97 บาท
ประเด็นสำคัญมีว่า...การจัดเก็บทั้งสองพื้นที่สำนักงาน ได้แก่ สำนักงานเทคโนธานีและสำนักงานใหญ่องครักษ์ ดำเนินการโดยไม่มีใบอนุญาตจาก ปส. โดยตามหลักการแล้วต้องมีใบอนุญาต 3 ใบ ได้แก่
ใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานที่ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี, ใบอนุญาตก่อสร้างสถานที่ให้บริการกากกัมมันตรังสี และใบอนุญาตให้ดำเนินการให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี
อ้างอิงตามมาตรา 80 พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ซึ่งหากมองลึกลงไปกฎหมายดังกล่าวก็ไปสอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 58 ซึ่งกล่าวไว้บางส่วนว่า...
“การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียส่วนใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างสำคัญอื่น รัฐต้องเร่งดำเนินการ....
ให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ”
นั่นหมายถึง...ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถึงปัจจุบันหน่วยงานของรัฐกลับละเมิดกฎหมายเสียเองหรือไม่? อีกทั้งเป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชนด้วยซ้ำไปหรือเปล่า?
...