นักวิทยาศาสตร์สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ พบเตาหลอมเหล็กมีซีเซียม-137 ติดอยู่รวมทั้งระบบกรองและตัวดูดฝุ่นปนเปื้อน โดยมีระดับรังสีต่ำ 0.07-0.10 ไมโครซีเวิร์ต/ชั่วโมง จ่อขอทหารช่วยหาวัสดุที่หายไป

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 21 มี.ค. 66 นายกิตต์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ในฐานะของผู้ช่วยโฆษกสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ รายงานสถานการณ์การปฏิบัติการ กรณีการปนเปื้อนของซีเซียม-137 ในโรงงานหลอม ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อติดตามสถานการณ์ และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจในการเฝ้าระวังและตอบสนองกรณีวัสดุซีเซียม-137 ในโรงงานที่เกิดเหตุ

หลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบตรวจวัดปริมาณรังสีในโรงงานหลอมที่ อ.กบินทร์บุรี ผลการตรวจสอบระบบการหลอมโลหะทั้งหมดพบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในเตาหลอมโลหะที่ 3 จำนวน 1 เตา จากทั้งหมด 3 เตา ซึ่งผลการตรวจวัดการปนเปื้อนรังสีอยู่ในระดับต่ำ (0.07-0.10 ไมโครซีเวิร์ต/1 ชั่วโมง) ในขณะที่เตาหลอมหมายเลข 1, 2 ไม่พบการปนเปื้อน และไม่พบการปนเปื้อนในชิ้นส่วนอุปกรณ์ถ่ายเทน้ำเหล็ก และยังไม่พบการปนเปื้อน

...

เมื่อตรวจสอบในระบบดูดฝุ่นและระบบกรองฝุ่น และมีฝุ่นจำนวนหนึ่งอยู่ในระบบกรองฝุ่นโลหะปนเปื้อนซีเซียม-137 จากการหลอมโลหะในวันที่ 18-19 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้รอให้ฝุ่นปนเปื้อนดังกล่าวเย็นลงก่อน และจะเตรียมบรรจุลงในถุงขนาดใหญ่ จากนั้นจะนำไปเก็บในโรงเก็บฝุ่นแดงที่มีการปนเปื้อนก่อนหน้านี้ 24 ตัน

จากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ตรวจวัดปริมาณรังสีโดยรอบพื้นที่ บริเวณหน้าดิน รอบโรงงาน ซึ่งปริมาณรังสีที่วัดได้เทียบเท่ากับปริมาณรังสีในธรรมชาติ การตรวจสอบปริมาณรังสีโดยรอบในสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการโดยใช้เครื่องมือวัดระดับปริมาณรังสีติดตั้งในรถยนต์ เพื่อทำการตรวจวัดปริมาณรังสีโดยรอบโรงงานที่เกิดเหตุ ผลการตรวจสอบพบว่าปริมาณรังสีที่วัดได้เทียบเท่ากับปริมาณรังสีในธรรมชาติ (0.03-0.05 ไมโครซีเวิร์ต/1 ชั่วโมง)

ขณะที่การตรวจวัดปริมาณรังสีบริเวณโดยรอบโรงงานในรัศมี 3 กม. เราทำงานร่วมกับฝ่ายปกครองที่ลงไปในชุมชน จำนวน 4 จุดใหญ่ๆ คือ หมู่บ้านโคกกระท้อน หมู่ 10 ต.ลาดตะเคียน หมู่บ้านซ่ง หมู่ 2 ต.หาดนางแก้วบ้านหาดสูง หมู่ 2 ต.หาดนางแก้ว และ อบต.หาดนางแก้ว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในเรื่องของการอธิบายการตรวจวัดและระดับรังสีให้กับประชาชนที่อยู่บริเวณรอบพื้นที่โรงงาน ซึ่งมีพื้นที่ไหนบ้างจะสรุปให้อีกที ในเรื่องของแนวทางการตรวจวัดประเมินค่าซีเซียม-137 ที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย เราได้มีการเก็บตัวอย่างปัสสาวะพนักงานในโรงงานแล้ว ซึ่งจะนำปัสสาวะไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ด้วยเครื่องวัดรังสีแกมมา

ในธรรมชาติก็จะมีรังสีอยู่แล้ว โดยที่เกิดจากพื้นดิน รังสีนอกโลก รังสีพวกนี้เราเรียกรังสีธรรมชาติ ส่วนรังสีซีเซียม-137 เราต้องสร้างขึ้นมาเท่านั้น เรามีพันธมิตรที่จะประสานงานผู้เชี่ยวชาญทางรังสี ได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ กรมวิทยาศาสตร์กองทัพอากาศ ซึ่งทางหน่วยงานนี้มีการฝึกซ้อมตลอดเวลา หน่วยงานเหล่านี้จะมีเครื่องมือวัดรังสี จะสามารถตรวจสอบตรวจสอบอีกทีตามร้านรับซื้อของเก่า หรือโรงงานอื่นๆ จเพื่อจะยืนยันว่ายังไม่มีการพบก้อนนี้ เราสามารถขอความร่วมมือ โดยจะประสานกระทรวงกลาโหม เพื่อจะสามารถขอสนับสนุนกำลังและเครื่องมือในการช่วยค้นหาส่วนโลหะที่บรรจุซีเซียม-137 ในพื้นที่อีกทางหนึ่ง.

...