เป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก เมื่อวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 50 ฉบับที่ 2 ปี 2022 ตีพิมพ์การค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก... เบี้ยพ่อตา (Peperomia ranongensis Suwanph., Hodk. & Chantar.)

ถูกค้นพบบริเวณป่าใน จ.ระนอง ในระหว่างทำโครงการวิจัยการศึกษาโมเลกุลซิสเทมาติกส์ของพืชวงศ์พริกไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความหลากหลายใน สปป.ลาว ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนการวิจัยแห่งชาติ (สกว. เดิม)

เป็นการร่วมมือการวิจัยเพื่อศึกษาพืชวงศ์ Piperaceae โดย รศ.ดร.เฉลิมพล สุวรรณภักดี ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์, ศ.ดร.ประนอม จันทรโณทัย สาขาชีววิทยา คณะวิทยา ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศกับ Prof. Dr. Trevor R. Hodkinson, Tri nity College Dublin, The University of Dublin ประเทศไอร์แลนด์

“เบี้ยพ่อตา” เป็นพืชสกุลกระสัง หรือเพเพอร์โรเมีย (Peperomia) หลังจากการศึกษาพบประเทศไทยมีพืชสกุลนี้แล้วทั้งหมด 17 ชนิด

โดยชนิดใหม่ของโลกมีลักษณะเด่นคือ เป็นพืชอิงอาศัยลำต้นมีสีแดง ใบออกแบบสลับตั้งฉาก และมีการออกรอบข้อร่วม ผลมีตุ่ม

นอกจากนี้ ยังมีใบหนาอวบน้ำ ตามแบบฉบับของต้นกระสังลำต้นมีขนาดค่อนข้างเล็ก เหมาะในการพัฒนาให้เป็นไม้ประดับกระถางในอนาคต

จากการศึกษายังพบว่า ไทยยังมีพืชสกุลผักกระสังอีกหลายชนิด ที่น่าสนใจในการนำไปพัฒนาเป็นไม้ประดับกระถาง เพื่อทดแทนชนิดที่
นำเข้าจากต่างประเทศ

เพราะในบ้านเรายังมีพืชพันธุ์อีกหลายชนิด ที่เร้นกายซ่อนอยู่ท่ามกลางผืนป่าอันกว้างใหญ่ไพศาล ยืนยันได้ถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดินนี้.

...

สะ-เล-เต