ประมงพื้นบ้านเกาะช้างออกเรือจับกุ้งแชบ๊วย ส่งขายได้ กก.ละ 250-300 บาท หักค่าใช้จ่ายมีรายได้ 2-3 พันบาท แต่แทบทุกรายโอดได้รับผลกระทบ แม้ราคากุ้งดีแต่รายได้ลดลง เพราะต้นทุนน้ำมันแพงกว่าเท่าตัว

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 65 นายวันรุ่ง ขนรกุล กำนัน ต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง จ.ตราด เผยว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุมระยะ 1-2 เดือน ก็เป็นช่วงฤดูกาลออกวางอวนจับกุ้งตามวิถีชาวบ้าน ในท้องทะเลรอบๆ เกาะช้าง จะมีฝูงกุ้งแชบ๊วย เข้ามาอาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่ง โดยเฉพาะช่วงหลังจากทะเลได้เกิดคลื่นลมรุนแรง ชาวประมงพื้นบ้านจากชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ ก็จะนำเรือประมงขนาดเล็ก ออกไปวางอวน เพื่อจับกุ้งแชบ๊วยมาขาย และบริโภคในครัวเรือน

ช่วงต้นฤดูกาลนี้ บางรายก็สามารถจับกุ้งได้ บางรายก็จับกุ้งไม่ได้ ซึ่งกุ้งที่ชาวประมงพื้นบ้านเกาะช้างวางอวนจับมาได้จะมีตัวขนาด 40-50 ตัว/กก. เมื่อได้กุ้งมาก็จะมีคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง มาช่วยกันแกะกุ้งออกจากอวน เพื่อนำกุ้งแช่ไว้ในน้ำแข็งให้เร็วที่สุด เป็นการรักษาความสดของกุ้ง ก่อนจะส่งขายถึงผู้บริโภค

...

เมื่อวางอวนจับกุ้งมาได้ บางส่วนก็จะส่งขายให้แก่พ่อค้า-แม่ค้าคนกลางที่รับซื้อประจำ บางส่วนก็จะโพสต์ขาย ผ่านช่องทางโซเชียล (เฟซบุ๊ก) ก็จะมีผู้ให้ความสนใจสั่งซื้อผ่านทางโซเชียล และมารับซื้อกุ้งถึงที่ ขณะที่กุ้งยังสดๆ โดยขายในราคา 250-300 บาท/กก. (แล้วแต่ไซส์) จึงเป็นโอกาสสร้างรายได้ของชาวประมงพื้นบ้านเกาะช้าง หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วก็เหลือเงิน 2,000-3,000 บาทต่อราย และถ้าหากวันไหนสามารถวางอวนจับกุ้งได้จำนวนมาก ก็จะแจ้งให้ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน มาช่วยกันแกะกุ้งออกจากอวน และให้กุ้งไปประกอบอาหารในครัวเรือน เป็นการแบ่งปันกัน สิ่งที่ส่งผลกระทบกับชาวประมงพื้นบ้านในปัจจุบันก็คือ ราคาน้ำมันที่ปรับราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การออกจับกุ้งมีต้นทุนที่สูงมาก

ทั้งนี้ ชาวประมงพื้นบ้านเกาะช้าง จะอาศัยช่วงหลังจากที่ในทะเลมีคลื่นลมแรง เมื่อคลื่นลมสงบก็จะนำเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก ที่ติดตั้งเครื่องยนต์หางยาว-เครื่องยนต์เรือเร็ว พร้อมลูกเรือ 1-2 คน ออกไปวางอวนเพื่อจับกุ้งในทะเลโดยรอบเกาะช้าง ตั้งแต่เช้าตรู่ ใช้เวลาวางอวนประมาณ 3-4 ชั่วโมง ก็จะทำการเก็บกู้ ซึ่งถ้าหากวันไหนโชคดีวางอวนตรงจุดที่มีฝูงกุ้งชุกชุม ก็จะสามารถจับกุ้งได้ 20-40 กก.

ชาวประมงพื้นบ้านเกาะช้างหลายรายได้กล่าวกับทีมข่าวคล้ายๆ กันว่า ถึงแม้จะสามารถขายกุ้งแชบ๊วยที่วางอวนจับมาได้ราคาดีสูงกว่าปีที่ผ่านๆ มา แต่ก็มีต้นทุนสูงกว่าก่อนเกือบครึ่ง เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจะเหลือเงินน้อยกว่า เพราะราคาน้ำมัน และอุปกรณ์สำหรับใช้ในการออกจับกุ้ง ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั่นเอง.