ผู้ว่าฯ จันท์ สั่งทุกหน่วยงานคุมเข้มมาตรการป้องกันโควิด หลังเกิดกรณีเชื้อปนเปื้อนตู้คอนเทนเนอร์ทุเรียนส่งออก จนทำให้จีนระงับนำเข้าจากไทยชั่วคราว ขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคยังสูงต่อเนื่อง

วันที่ 14 เม.ย. 65 นายสุธี ทองแย้ม ผวจ.จันทบุรี เปิดเผยว่า กรณีในช่วงอาทิตย์ก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา เกิดวิกฤติราคาทุเรียนตกต่ำลดลง และมีความผันผวนอย่างมาก ส่งผลทำให้เกษตรกรเกิดความวิตกกังวลว่ามีสาเหตุเกิดจากอะไร ประกอบกับมีกระแสข่าวลือทางสื่อโซเชียล และการปั่นราคาของผู้ไม่หวังดี ซึ่งถือว่าอาจเข้าข่ายมีความผิดทางกฎหมาย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งหาสาเหตุที่ราคาทุเรียนลดลงและผันผวน หลักๆ แล้วเกิดจากด่านประเทศจีน โดยเฉพาะด่านโม่ฮาน ประกาศระงับการนำเข้าทุเรียนไทย 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-14 เมษายน หลังจากตรวจพบการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ที่ตู้คอนเทนเนอร์ และบรรจุภัณฑ์ทุเรียนที่ขนส่งผ่านประเทศลาวเข้าด่านโม่ฮาน ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน เกินมาตรฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าและราคาทุเรียน

ผวจ.จันทบุรี กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มมาตรการคุ้มเข้ม มาตรการป้องกันโควิด-19 โดยการส่งเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจแรงงาน โรงคัดบรรจุทุเรียนส่งออก ว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือไม่ เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย และมีมาตรการเอาผิดที่ชัดเจนต่อล้ง ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากการตรวจเจอทุเรียนด้อยคุณภาพในบางล้ง ถึงแม้ว่ายังไม่มีการส่งออก แต่มีการปล่อยกระแสข่าวลือต่างๆ ตลอดจนการชี้นำ หรือปั่นราคาตามสื่อโซเชียล จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดและสับสน จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการรับซื้อช่วยสอดส่องดู และให้มีการเสนอราคาที่ชัดเจนและเป็นจริง

...

นายสุธี กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมทุเรียนไทยได้รับแจ้งจากอยู่ตลอดจากตลาดผู้บริโภคปลายทางว่า ทุเรียนของจันทบุรีที่มีการส่งออกไปตั้งแต่ต้นฤดูกาล ผู้บริโภคชาวจีนติดใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากได้ทานทุเรียนที่มีคุณภาพ เป็นทุเรียนที่สุกจริงๆ

ขณะที่ข้อมูลจาก นายชลธี นุ่มหนู ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) เปิดเผยว่า แม้ด่านโม่ฮาน ซึ่งเป็นด่านทางบกที่เหลือด่านสุดท้าย จะสั่งระงับนำเข้าทุเรียนไทยเป็นเวลา 3 วัน เพราะตรวจเจอเชื้อโควิด-19 พร้อมทั้งให้ทางฝั่งไทยปรับปรุงแก้ไขในกระบวนการผลิต แต่ในพื้นที่ล้ง หรือโรงคัดบรรจุ ยังคงเปิดรับซื้ออยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวานนี้ (13 เม.ย. 65) แม้จะเป็นวันหยุดยาวเทศกาล แต่มีการแจ้งให้เข้าตรวจสอบความอ่อน-แก่ ทุเรียนเกือบ 100 ล้ง เพราะต้องเปลี่ยนเส้นทางไปเรือและเครื่องบินมากขึ้น ส่วนตู้คอนเทรนเนอร์ทางบกส่วนใหญ่จอดเสียบไฟทำความเย็นรอให้ด่านเปิด ซึ่งในวันเดียวกันตัวเลขทุเรียนภาคตะวันออกที่ยังส่งไปจีนได้แค่ประมาณ 25,000 ตัน หรือคิดเป็นแค่ 4% ของผลผลิตทั้งหมด และยังเหลือทุเรียนอีกจำนวนมาก จึงได้แต่หวังอย่าให้ทางจีนปิดด่านอีก

ส่วนการควบคุมเชื้อโควิด-19 ไม่ให้ปนเปื้อนไปกับผลผลิต/บรรจุภัณฑ์ /และรถขนส่ง เป็นเรื่องที่ยากมากในจำนวนล้ง หรือโรงคัดบรรจุทุเรียน 350 โรง มีทั้งที่เข้มงวดในมาตรการ GMP+ และที่หย่อนยาน แต่เมื่อจีนตรวจพบเชื้อแล้วสั่งระงับทุเรียนไทย ก็ส่งผลกระทบด้วยกันทุกล้งทันที ซึ่งการจัดการกับล้งที่เป็นปัญหา แต่ด้วยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ จึงทำได้แค่ขอความร่วมมือเท่านั้น ซึ่งต้องเห็นใจกับล้งอื่นที่ทำตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัดต้องมาได้รับผลกระทบตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ยังเชื่อว่าถ้าหากสามารถส่งออกทุเรียนคุณภาพเข้าประเทศได้ คาดว่าตลาดผู้บริโภคยังคงให้การยอมรับ และมีความต้องการนำเข้าทุเรียนไทย โดยเฉพาะของจันทบุรีที่สูงไปจนสิ้นฤดูกาลผลิตนี้อย่างแน่นอน.