แม้ว่าอุบัติเหตุ “น้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลระยอง” หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังกำจัดไม่เหลือคราบน้ำมันจนสถานการณ์คลี่คลายดีขึ้น แต่ก็ยังต้องเฝ้าจับตาผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมทางทะเลกันต่อเนื่อง และต้องติดตามผลสรุปการเอาผิดลงโทษผู้กระทำผิดอย่างไรต่อไป

ด้วยเหตุเพราะ “น้ำมันดิบ” มีสารอันตรายโดยเฉพาะ “สารเคมีกำจัดคราบน้ำมัน” โปรยให้น้ำมันเกาะแตกตัวเป็นตะกอนขนาดเล็กลงสู่ท้องทะเล เรื่องนี้กลายเป็นข้อกังวลจะก่อเกิดการปนเปื้อนในระบบนิเวศส่งผลกระทบสิ่งมีชีวิตกินสารพิษนี้แล้ว “คน” บริโภคอาหารทะเลปนเปื้อนเสี่ยงอันตรายระยะยาวหรือไม่

แล้วนี่ก็ใช่ว่าเกิดขึ้นครั้งแรก แต่หากจำได้เมื่อเกือบ 10 ปีก่อนเคยมีอุบัติภัยน้ำมันรั่วในทะเลอ่าวไทย 5 หมื่นลิตรส่งผลให้ “หาดทรายอ่าวพร้าว” เต็มไปด้วยคราบสีดำน้ำมันส่งกลิ่นเหม็นเสียหายมากที่สุด

เรื่องนี้ทำให้ “TCJA ร่วมกับมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และกรีนพีซประเทศไทย” จัดงานเสวนาผ่านระบบออนไลน์ในหัวข้อ “นํ้ามันรั่วสู่ทะเล (อีกแล้ว) ถึงเวลาสร้างระบบใหม่เพื่อนิเวศที่ยั่งยืนและเป็นธรรม” ในการถอดบทเรียนนำมาซึ่งมาตรการการป้องกันอุบัติภัยทางทะเลจากอุบัติเหตุน้ำมันในอนาคตนี้ “เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง” ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ บอกว่า

...

เท่าที่ส่งทีมงานไปสังเกตการณ์กรณีเหตุน้ำมันดิบรั่วครั้งนี้ถ้าเทียบกับเมื่อปี 2556 น่าจะเป็นหายนะรุนแรงอันเกิดจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่สุด เพราะเชื่อว่ามีการใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันสูงมาก

ถัดมานับแต่เกิดเหตุ “บริษัทต้นเหตุ” มักเป็นผู้ออกแถลงการณ์สู่สาธารณะฝ่ายเดียว ทำให้มีข้อมูลน้อยไม่ชัดเจน เช่นช่วงแรกมีข่าวปริมาณน้ำมันรั่ว 4 แสนลิตร เมื่อผ่านไปวันเดียวตัวเลขลดลงเหลือ 20-50 ตัน ถ้าปริมาณน้ำมันรั่วไหลตามคำกล่าวอ้างจริงนี้การปฏิบัติการกำจัดคราบน้ำมันไม่น่ายืดเยื้อ หรือใช้สารเคมีเยอะแบบนี้

ทำให้ตั้งข้อสังเกตว่า “ข้อมูลข่าวสารออกสู่สาธารณชนน่าจะคลุมเครือไม่ครบถ้วนหรือไม่” เพราะมีการกำหนดเนื้อหาให้ข่าวสารเคร่งครัดมาก เพื่อควบคุมทิศทางข้อมูลให้ไปในทิศทางเดียวกัน เสมือนปิดกั้นข้อเท็จจริงบางกรณีที่มีความร้ายแรงมากกว่า “น้ำมันรั่วปี 2556” คราวนั้นภาครัฐออกมาให้ข้อมูลกันเป็นระยะๆ

ผลจาก “การปิดกั้นข้อมูลน้ำมันรั่ว” ย่อมส่งผลก่อเกิดความเสียหายกว้างไกลร้ายแรงก็ได้ เช่นนี้ “หน่วยงานรัฐ และบริษัทต้นเหตุควรเปิดเผยความจริง” เพราะอย่างน้อยจะสามารถระดมความช่วยเหลือ การป้องกัน หรือแก้ปัญหาได้ดีกว่าการปกปิดข้อมูลแล้วยังจะทำให้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนด้วยซ้ำ

ทว่าอันที่จริงแล้ว...“ข้อสงสัยปริมาณน้ำมันรั่วไหลลงทะเล” สามารถตรวจสอบหาตัวเลขได้ไม่ยาก เพราะเป็นสินค้านำเข้าต้องจดแจ้งต่อ “กรมศุลกากร” ในการพิจารณาขออนุญาตก่อนการนำเข้าแต่ละครั้ง เช่นนี้ก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบจำนวนน้ำมันคงเหลืออยู่ และคำนวณปริมาณน้ำมันรั่วไหลออกลงสู่ทะเลได้แล้ว

กลายเป็นว่า “การปฏิบัติการกำจัดคราบน้ำมันรั่วไหลครั้งนี้” กลับมีกระบวนการเคลือบแคลงน่าสงสัยหลายประการถ้าเทียบกับ “เหตุน้ำมันรั่วปี 2556” ฉะนั้นเรื่องอยากเรียกร้องให้ “รัฐบาล” กล้าออกมายอมรับผิดแล้วขอให้บริษัทต้นเหตุออกมาแถลงข่าวอย่างตรงไปตรงมา เพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การทำแผนป้องกันเหตุในอนาคต

จริงๆแล้ว...“การป้องกันน้ำมันรั่วไหลลงทะเล” เมื่อครั้งปี 2556 ภาคประชาชนก็เคยเสนอ “รัฐบาลให้มีการจัดตั้งกรรมการกลาง” อันประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ นักกฎหมาย ตัวแทนภาคประชาชน เพื่อเข้าทำหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริง และนำสู่แนวทางการวางกรอบมาตรการป้องกันปัญหาในอนาคต

เรื่องนี้ก็เป็นที่น่าเสียดาย “คณะกรรมการกลาง” ถูกจัดตั้งขึ้นมาทำหน้าที่นี้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมเกือบทั้งหมด ทำให้รายงานผลสรุปการสอบสวนกรณีน้ำมันรั่วไหลครั้งนั้นออกมาลักษณะไม่นำมาซึ่งแนวทางให้มีมาตรการป้องกันปัญหาในระยะยาว หรือการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเป็นธรรม

...

ทำให้คราวนั้น “ผู้รับผลกระทบฟ้องคดี” แล้วในกระบวนการประนีประนอมมีการตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ 19 สาขา ก็เป็นผู้แทนจากบริษัทต้นทางปัญหาทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอีก แล้วตัวดิฉันเองก็เป็นหนึ่งในกรรมการชุดนี้ที่ไม่รับรองรายงานผลสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะกระบวนการตรวจสอบมีข้อสรุปบางส่วนหายไป

เหตุน้ำมันรั่วครั้งนี้เบื้องต้นกระทบอุตสาหกรรมประมง การท่องเที่ยว และสัตว์หน้าดิน ปะการังได้รับความเสียหายรุนแรงแน่ๆ ดังนั้น “ควรนำบทเรียนคราวก่อนมาเป็นแผนแม่บท” โดยเฉพาะการเปิดข้อมูลจริงที่มีหลายอย่างเคลือบแคลงสงสัยอยู่มากมาย เพื่อเรียกศรัทธาความน่าเชื่อถือต่อหน่วยงานรัฐ และบริษัทผู้ถือหุ้นคืนกลับมาได้

อย่าลืมว่าทะเลอ่าวไทยมีโครงข่ายท่อส่งน้ำมันสร้างมา 30-40 ปี ที่อาจรั่วจากท่อผุกร่อนใหม่ก็ได้ ตามข้อมูลตั้งแต่ปี 2516 ถึงวันนี้มีอุบัติภัยน้ำมันรั่ว 200 กว่าครั้ง แล้วเราไม่อยากเห็นเหตุการณ์นี้อีกคงถึงเวลาต้องลงทุนเพื่อความปลอดภัย “รัฐบาลต้องเข้มแข็งอย่าเดินตามภาคเอกชน” แสดงวิสัยทัศน์เป็นผู้นำตัดสินใจแก้ปัญหานี้

เช่นเดียวกับ รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม และมลพิษอุตสาหกรรม บอกว่า ตามปกติโรงงานผลิต หรือส่งน้ำมันมักต้องทำรายงานมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบแล้วปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด

...

ถ้าหาก “คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ สั่งสำนักนโยบาย และแผนพลังงาน (สผ.)” เปิดรายงานขั้นตอนป้องกันการตรวจสอบระบบท่อเป็นไปตามกรอบข้อกำหนดหรือไม่ก็จะทราบต้นเหตุ และปริมาณน้ำมันรั่วทันที

ประเด็นต่อมา “การใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมัน” สิ่งนี้เป็นเพียงกำจัดให้พ้นสายตาไม่ให้เห็นคราบน้ำมันตามชายหาด และผิวน้ำทะเลเท่านั้น แต่ก็เชื่อว่าน่าจะคงหลงเหลือคราบน้ำมันตกค้างเช่นเดิม สามารถพิสูจน์ได้ด้วยขุดหลุมให้น้ำไหลเข้าก็จะเห็นคราบน้ำมันตกค้างนั้นเอง

เมื่อไม่มีคราบน้ำมันแล้ว “มักไม่มีใครเฝ้าติดตามผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” เพราะการศึกษาวิจัยต้องใช้งบประมาณสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายสูง เหตุนี้ทำให้ยากต่อการทราบผลกระทบเกิดขึ้นระยะยาวตามมา

ย้ำว่า “สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันมีพิษแน่นอน” แม้ฉลากข้างขวดระบุว่า “พิษต่อสัตว์น้ำน้อย” แต่ครั้งนี้ใช้สารเคมีจำนวนมากก็น่าจะมีสารเคมีตกค้างเยอะ ทำให้สัตว์น้ำช่วงตัวอ่อนไม่อาจขยายเพิ่มประชากรได้

ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ บอกว่า ก่อนอื่นขอหยิบยกผลการวิจัยเมื่อครั้งมีเหตุน้ำมันรั่วปี 2556 แล้วต่อมา 2 ปีภายหลังก็ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างดินรอบเกาะเสม็ดนำมาสกัดโดยทางวิทยาศาสตร์

...

ปรากฏพบ “สารก่อมะเร็ง โพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons)” ในทางวิชาการก็เป็นสารอยู่ในน้ำมันดิบ ถ้ารั่วไหลมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมก็ต้องปนเปื้อนสารพิษแน่นอน

โดยเฉพาะอ่าวพร้าวมีการปนเปื้อนสารก่อมะเร็งกระจุกตัวมากที่สุด สิ่งนี้เป็นตัวยืนยันว่า “สารก่อมะเร็งเกิดจากปิโตรเลียม” แม้เวลาผ่านไป 2 ปีแล้วก็ยังมีผลกระทบอยู่เช่นเดิม ฉะนั้นกรณี “น้ำมันรั่ว ปี 2565” มั่นใจว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศหน้าดิน แล้วจะส่งผลต่อไปอีกกว่า 10 ปีแน่นอน

ตอกย้ำการใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันดิบคิดว่าจะจบแต่ยังไม่จบ เช่นกรณีปี 2010 มีน้ำมันรั่วไหลลงอ่าวเม็กซิโกแล้วใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันจนส่งผลในระยะยาวต่อแพลงก์ตอน และกระทบในแง่สุขภาพ “บริษัทต้นเหตุ” ต้องชดใช้ความเสียหายการรักษาสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูระบบนิเวศ 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

คำถามว่า “ประเทศไทย” มีกลไกในการดูแลป้องกันอุบัติเหตุนี้หรือไม่ ดังนั้น โครงสร้างการป้องกัน “คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน” ต้องสั่งการกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ โดยมีกรมควบคุมมลพิษสนับสนุนข้อมูลเร่งจัดทำแผนโครงสร้างการฟื้นฟูผลกระทบสิ่งแวดล้อมเหมือนต่างประเทศใหม่ทั้งหมด

อนาคตเราคงต้องเจอกับเหตุน้ำมันรั่วอีกแน่ๆ จึงควรใช้โอกาสนี้ร่วมกันจัดทำแผนรับมืออย่างจริงจังสักที เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และรักษาระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมอันมีค่านี้ไว้...