อัยการธนกฤต เปิดข้อกฎหมาย การเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทเอกชน กรณีน้ำมันรั่วที่ระยอง ชี้ การทำให้เกิดมลพิษ ไม่ว่าประมาทเลินเล่อ หรือจงใจ ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย

วันที่ 30 มกราคม 2565 นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยผ่านทางเฟซบุ๊กให้ความเห็นกรณีน้ำมันรั่วที่ระยอง ว่า เหตุน้ำมันดิบของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC รั่วไหลจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีข้อสงสัยว่าจะสามารถเรียกค่าเสียหายจากบริษัทได้หรือไม่

ตนเห็นว่า ในการเรียกร้องค่าเสียหายจากเอกชน ภาครัฐมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ทรัพย์สินของรัฐ และค่าใช้จ่ายในการขจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหลจากบริษัท SPRC ได้ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ มาตรา 96 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่มีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษทำให้ทรัพย์สินของรัฐเสียหาย ไม่ว่าการรั่วไหล หรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งในกรณีที่มีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษและราชการต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่รัฐด้วย ซึ่งเป็น “หลักความรับผิดโดยเคร่งครัด” กล่าวคือ เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษต้องรับผิดแม้จะไม่ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม

...

นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 97 ที่กำหนดให้บุคคลที่กระทำหรือละเว้นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้สูญหาย หรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปด้วย

สำหรับประชาชนที่ได้รับความเสียหายที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวประมง ผู้ประกอบการต่างๆ และผู้อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบ มีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท SPRC ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ มาตรา 96 เช่นเดียวกัน ตามที่มาตรา 96 กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม โดยยื่นฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม.