เหตุการณ์ “น้ำมันรั่ว” ในทะเลอ่าวไทยถือเป็น “เรื่องใหญ่” และมีผู้สนใจติดตามใกล้ชิด เพราะเป็น “ภัยพิบัติ” สำคัญที่จะส่งผลกระทบตามมาได้อีกหลายด้าน ที่สำคัญ...ต้องใช้เวลาอีกนานในการเยียวยา ฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น

กรณีล่า “ท่อน้ำมันดิบรั่วทะลัก 4 แสนลิตรกลางทะเลระยอง” ซึ่งเป็นรายงานข่าวในช่วงแรก แต่มีการยืนยันในช่วงหลังว่ารั่วเพียง 1.6 แสนลิตรเท่านั้น...หรือ 2 หมื่นลิตรตามที่บริษัทแถลง ขณะที่หลายสำนักข่าวระบุ พบสาเหตุรูท่อรั่วขนาด 0.9 เซนติเมตร เกิดจากการกัดกร่อนโดยจุลชีพ

คาดการณ์ว่า...น้ำมันปริมาณมหาศาลเหล่านี้จะเคลื่อนตัวสู่ชายฝั่งราวปลายสัปดาห์ อาจเข้าสู่ฝั่งบริเวณ...หาดแม่รำพึง อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าฯ

ต้องเร่งระดมทีม ควบคุมสถานการณ์ตามแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน อีกทั้งหยุดกิจกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมดตามขั้นตอนความปลอดภัย พร้อมแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวัง...ควบคุมสิ่งแวดล้อมต่างๆ

ย้อนไปช่วงปลายเดือนกรกฎาคมปี 2556 ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ในแวดวงสิ่งแวดล้อม นับเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันเพียงชั่วข้ามคืน สำหรับกรณีน้ำมันรั่วในทะเลอ่าวไทย จ.ระยอง

...

หากยังพอจะจำกันได้...สถานการณ์นี้ทำให้อ่าวพร้าวจำต้องปิดลงชั่วคราว พร้อมประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติทางทะเล นักท่องเที่ยวจำนวนมากซึ่งอยู่ระหว่างพักผ่อนที่เกาะเสม็ดในทุกๆอ่าวเริ่มทยอยเช็กเอาต์ หิ้วกระเป๋ากลับก่อนกำหนด...ขณะที่ประชาชนต่างทวงถามความรับผิดชอบจากผู้เกี่ยวข้อง

“น้ำมันรั่ว” ครั้งนั้นนับเป็นเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างมหาศาล สัตว์ทะเล ทั้งปลา ปู กุ้ง หอย ฯลฯ ต้องตายไปนับไม่ถ้วน

ส่วนแนวปะการังก็เกิดการฟอกขาวไปทั้งแถบ ไม่นับรวมในแง่ธุรกิจ...การท่องเที่ยวที่ชาวประมงพื้นบ้าน ผู้ประกอบการ ที่ต่างได้รับผลกระทบเกิดความเสียหายกันทั่วหน้า

กรณีนี้เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 27 ก.ค.2556 ขณะที่เรือบรรทุกน้ำมันสัญชาติกรีซกำลังถ่ายน้ำมันดิบมายังโรงกลั่นน้ำมันได้เกิดเหตุไม่คาดฝัน เมื่อท่อรับน้ำมันดิบขนาด 16 นิ้ว ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร เกิดรอยแตกรั่วขึ้น

ครั้งนั้น...ปริมาณน้ำมันแค่จิ๊บๆ 50,000 ลิตรเท่านั้น แต่ครั้งนี้ดูว่าตัวเลขปริมาณยังไม่นิ่ง?

รายงานระบุว่า วาล์วอัตโนมัติตัดระบบส่งน้ำมันแล้ว ส่วนเจ้าหน้าที่ก็เร่งนำเรือออกทะเล เพื่อปล่อยสารขจัดคราบน้ำมันไม่ให้กระจายตัว พร้อมเร่งนำทุ่นกักน้ำมันกักคราบไว้และใช้เครื่องมือเก็บ กระทั่งเห็นว่าสถานการณ์ดีขึ้น จึงออกประกาศว่าขณะนี้สามารถขจัดคราบน้ำมันไปได้แล้วกว่า 70%

คาดว่าทุกอย่างคงกลับสู่ภาวะปกติภายในไม่กี่วัน แต่...ผิดคาด สถานการณ์กลับเลวร้ายลง เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 29 ก.ค. นักท่องเที่ยวที่ตื่นเช้ามาชื่นชมความงดงามของชายหาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด เป็นอันต้องตกตะลึง เมื่อหาดทรายขาว ทะเลสีฟ้าใส แปรเปลี่ยนเป็นสีดำสนิท ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ...

ช่วงเวลา 2 วัน กระแสคลื่นลมแรงก็ได้พัดพาบางส่วนของน้ำมันดิบที่รั่วไหลเข้าสู่ชายฝั่งสถานที่ท่องเที่ยวอันดับ 1

ประสบการณ์สอนให้รู้ “กรณีศึกษาการรับรู้ผลกระทบและการจัดการวิกฤติน้ำมันรั่วลงทะเล บริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง” ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปเหตุการณ์วิกฤติน้ำมันรั่วลงทะเลห่างจากชายฝั่งมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 20 กม.

เหตุน้ำมั่นรั่วปี 2556 มีกระบวนการจัดการคราบน้ำมันด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนประเด็นการรับรู้ผลกระทบและการจัดการเหตุวิกฤติน้ำมันรั่ว มีการตั้งจุดให้บริการรับเรื่องร้องทุกข์จากผลกระทบที่เทศบาลบ้านเพ พบว่า มีชุมชนชาวประมงมาแจ้งเรื่องมากที่สุด รองลงมาเป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร ผลกระทบสำคัญคือ...เรื่องการขาดรายได้

ในการจัดการวิกฤติน้ำมันรั่วนั้นพบว่า มาตรการในการดูแลผู้เข้าปฏิบัติหน้าที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งจากการปฏิบัติงานของ “ภาครัฐ” พบอุปสรรคในด้านการควบคุมสถานการณ์ทั้งกำลังคนและการจำกัดพื้นที่

...

...เป็นเหตุให้ผู้ที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่บริเวณดังกล่าวมีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ เนื่องจากขาดความรู้ในเรื่องของสารเคมีและไม่มีการป้องกันที่เหมาะสม

ภาพรวมแนวทางจัดการน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลข้างต้นนี้ ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนแนวคิดและประสบการณ์เกี่ยวกับแนวทางการจัดการโดยรวมเอาไว้ 8 ขั้นตอน เอาไว้น่าสนใจ

ขั้นที่หนึ่ง...การหยุดการรั่วไหลของน้ำมันให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยดำเนินการตามคู่มือการปฏิบัติการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ อาทิ การหยุดการส่งน้ำมันและควบคุมด้วยการปิดวาล์วทันที

ขั้นที่สอง...การแจ้งเตือนและให้ข้อมูลกับภาคส่วนต่างๆ โดยทันทีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น

เจ้าหน้าที่หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องจะต้องรีบดำเนินการแจ้งเตือน...ให้ข้อมูลโดยด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตหรือผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งอาจประกอบไปด้วย...เจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติงาน เรือประมง เรือโดยสารบริเวณโดยรอบ

...

“การดำเนินข้างต้นอย่างเหมาะสม ทันท่วงทีจะส่งผลดีต่อการป้องกันผลกระทบทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้นอีกด้วย นั่นก็คือปัญหาต่อสุขภาพของประชากรในระยะยาวที่เกิดขึ้นจากการปนเปื้อนของน้ำมันที่รั่วไหลลงในสภาพแวดล้อม...สัตว์น้ำ พืชน้ำ คุณภาพน้ำทะเล”

ขั้นที่สาม...การเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ ได้แก่ ข้อมูลด้านปริมาณ...ปริมาณและอัตราการไหลของน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่ทะเล รวมถึงความเข้มข้นของน้ำมันในเฟสของเหลว, ข้อมูลด้านคุณภาพ...คุณภาพแหล่งน้ำ ลักษณะของสัตว์น้ำ, ข้อมูลด้านปัจจัยทางกายภาพ...สภาพภูมิประเทศ สภาพอากาศ ลักษณะคลื่น ฯลฯ

ปัจจุบันกล่าวได้ว่า ข้อมูลทางดาวเทียมจัดเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการดำเนินการในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับน้ำมันทางทะเล

สี่...การควบคุมและจำกัดพื้นที่ของการปนเปื้อนน้ำมัน ห้า...การแยกน้ำมันปนเปื้อน ทำควบคู่ไปกับขั้นตอนการควบคุมและจำกัดพื้นที่ จากนั้นจะใช้เครื่องมือเก็บคราบน้ำมัน หรือที่เรียกว่าสกิมเมอร์ หก...การบำบัดและกำจัด เจ็ด...การติดตามตรวจสอบ และขั้นตอนข้อสุดท้าย...การฟื้นฟูสภาพ

...

ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ ย้ำว่า ข้อสุดท้ายนี้สำคัญ...ก่อนที่จะเริ่มฟื้นฟูสภาพเราควรที่จะทราบให้แน่ชัดถึงข้อมูล โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า เราสามารถหยุดการรั่วไหลของน้ำมันจากแหล่งกำเนิดได้แล้วหรือยัง?...ยังมีปริมาณน้ำมันอีกเท่าไหร่ที่แขวนลอยอยู่ในทะเล? ...ประสิทธิภาพการแยก การบำบัด และกำจัดเป็นอย่างไร?

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการวางแผนในการฟื้นฟูสภาพ ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า...เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนที่จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก หรือถ้าเกิดขึ้นอีกก็จะต้องมีแนวทางการบริหารจัดการที่ดีกว่านี้ เพราะปัญหานี้กระทบกับระบบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชนคนไทย.