ย้อนไปราวๆปี 2517 ขณะ “พัทยา” เหมือนทารกหัดเดิน...องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ (อ.ส.ท.) หรือ ททท.ปัจจุบัน มองหาดพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวคึกคักนักท่องเที่ยว...มั่นใจอนาคตออร่าแน่นอน

จึงรีบทำแผนหลักพัฒนาโดย “ไจก้า” หน่วยงานรัฐบาลญี่ปุ่นที่คอยช่วยเหลือการพัฒนาประเทศ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญการวางภูมิทัศน์เมืองท่องเที่ยวริมทะเล มาร่วมสำรวจทำแผนดังกล่าว

แผนที่ว่า...ตั้งตุ๊กตาโรงแรมต้องอยู่ห่างหาดที่น้ำทะเลท่วมถึง 100 เมตร สูงไม่เกินยอดมะพร้าวเหมือนบาหลี...รู้จักนำระบบบำบัดน้ำเสียกับกำจัดปฏิกูลที่เกิดมาใช้ป้องกันมลพิษ และจัดระเบียบจราจรกับการระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วม พร้อมคุ้มครองความปลอดภัยนักท่องเที่ยว

แผนนั้นยังจัดโซนพัทยาใต้เป็นสวนสาธารณะริมทะเล ห้ามสร้างอาคารพาณิชย์ และเร่งปรับปรุงภูมิทัศน์หาดพัทยาเหนือจดใต้ เอาใจคนรักทะเลได้สะดวกลงเล่นน้ำโดยไร้สิ่งกีดขวาง

ส่วนถนนเลียบหาด 2.7 กิโลเมตรหรือพัทยาสาย 1 ควรเป็น “วอล์กกิ้ง สตรีท” ปลอดยวดยานทุกชนิด...แผนนี้ใส่ปกเสร็จแล้วได้ส่งมอบหน่วยงานเกี่ยวข้องบูรณาการงานร่วมกัน แต่น่าเสียดาย...ทุกองค์กรไม่ใส่ใจตอบสนอง พัทยาถึง “เน่า” ทุกระบบอย่างที่เป็น

...

ล่าสุด...เมื่อพัทยา จังหวัดชลบุรี ถูก “โควิด-19” โจมตีหนักหลายระลอก สร้างสถิติผู้ป่วยสะสม 7 หมื่นคน ตายเฉี่ยว 500รายจนถูกปรับพื้นที่เป็น “สีแดงเข้ม”...คนในห้ามออกคนนอกห้ามเข้าเมืองที่เคยมีนักท่องเที่ยวปีละ 18 ล้านคน พร้อมรายได้หายเกลี้ยงในบัดดล

แถมสวนดุสิตโพลยังจี้จุดถามประชาชนช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ถึงพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนยุคโควิด-19 ระบาด

อย่าตกใจ...กับคำตอบ 90.50% เทงานสังสรรค์ 89.50% หยุดเดินทางท่องเที่ยว 86.75% ชะลอการเยี่ยมญาติ...แต่ไม่เทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 55.48% และยังรักดูความบันเทิง 39.86%

ฟังเสียงสะท้อนแล้วเศร้าใจ เมื่อนักท่องเที่ยวเกือบ 90% เมินการเดินทางท่องเที่ยวที่เคยชื่นชอบ...และไม่รู้จะเป็นข่าวดีหรือร้าย ที่ทราบต่อมาว่าถึงเราจะได้วัคซีนทิพย์เกรดเหนือชั้นไฟเซอร์, โมเดอร์นา และสปุตนิก-วี เพียงใด...ไวรัสสกุลต่างๆก็หาได้หนีหายไปไหนไม่?

เท่ากับส่งสัญญาณ...มนุษย์ต้องอยู่ร่วมโลกกับมันให้ได้ แม้จะยาวไกลแค่ไหนก็ตาม?

ย้อนมองท่องเที่ยวยามพัทยาอับปาง ที่รู้ทั้งรู้...ผู้บริโภคหายไปแบบ “ปิดๆเปิดๆ” ร่วม 2 ปี แต่โชคยังดีที่การบริหารท้องถิ่นไม่ยุติความเคลื่อนไหว อย่างถิ่นอื่นที่ถนัดใช้สูตรปกครองโบราณแบบปล่อยวาง “เวทแอนด์ ซี” รอเหตุสงบแล้วค่อยออกแรงกวาดบ้านแปลงเมือง

“พัทยา” ไม่เป็นเช่นนั้น...เลือกไปต่อโดยเดินหน้าพัฒนาภูมิทัศน์ รอ “รับขวัญ” นักท่องเที่ยว

ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง...สนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยาอดีตรัฐมนตรีการท่องเที่ยวฯ เชื่อว่าเดินมาถูกทางแล้วที่ปักหมุดฟันธง พลิก “วิกฤติ” เป็น “โอกาส” กรณีใส่เกียร์ลุยงานปรับปรุงชายหาดแข่งเข็มนาฬิกา

ท่ามกลางเสียงถอนหายใจของเหล่าแรงงานสองแสนคน ที่ไม่มีงานและข้าวสารจะยาไส้

งานนี้ผู้ประกอบการยกมือท่วมหัว...เปล่งวาจา สาธุ!...ให้กับการตัดสินใจทุ่มงบ 196 ล้านบาทโละภาพอับเฉาเก่าๆออกเพื่อสร้างซีนเนอรีใหม่ ให้สมราคาเมืองท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล ที่มีการจัดระเบียบการใช้พื้นที่และลดความแออัด...ล้อแผนปี 2517 ที่เขียนเสร็จ แต่ทำไม่สำเร็จ

...

แล้วยังต่อยอดให้กับ “ฮับ” ท่องเที่ยวภาคตะวันออกภายใต้ “โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)” ซึ่งใช่ว่าจะเป็นกันได้ง่ายๆหากไม่มีความพร้อม

ขณะเดียวกันเปิดพื้นที่ให้โล่งแล้วเติมสีสันบรรยากาศรับโอโซน โดยรื้อถอนไม้บังตาธรรมชาติทะเลออก และสร้างความปลอดภัยให้สูงกว่าปล่อยเป็นแหล่งชุมชน “เชอรี่ (คุณโสฯ)” “กอล์ฟฟี่ (กะเทยเปรี้ยว)” “ชะนี (เกย์ควีน)” ยึดฝั่งรอเหยื่อ ฝ.ฝรั่ง “ลงเรือ” ที่หมายถึงขึ้นสวรรค์

อีกทั้งปัดกวาดปัญหาอาชญากรรมปล้นจี้ฉกชิงวิ่งราว และฆ่าข่มขืนแหม่มสาวให้หมดหรือลดความถี่ลง จากสภาพแวดล้อมที่เป็นใจให้เกิด “ภาพอุจาด” คู่เมืองนานห้าถึงหกทศวรรษ

เหนืออื่นใด...นี่คือการปฏิรูปพื้นที่ให้เป็น “นิวโปรดักส์” ป้อนตลาดท่องเที่ยวในและนอกประเทศทั่วโลก ได้ “รี วิสิท ทู ไทยแลนด์” เป็นการซ้ำครั้ง...วิธีนี้เขาเรียกการเตรียมความพร้อม

แต่...ไม่ทันที่โปรเจกต์อะเมซิ่งฉบับนี้จะขยับไปถึงไหน ก็ให้เกิดแรงลมต้านจากฝั่งการเมืองขั้วตรงข้าม ที่หวังชิงเก้าอี้นายกเมืองคนต่อไป กับกลุ่ม “กินแห้ว” งานประกวดราคา 196 ล้านบาทโดยฝ่ายเมืองพัทยาได้ใช้ความสุขุมเก็บข้อมูลเข้า “อินบ็อกซ์” ไว้ทบทวนเรียบร้อยแล้ว

...

มาดูผู้ผ่านเกณฑ์พิจารณาเที่ยวนี้...เรียกว่าถูกฝาถูกคู่กับมืออาชีพอย่าง “สวนนงนุชพัทยา” ดีกรีสวนสวยท็อปเทนโลกและจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญเมืองท่องเที่ยวขั้นเทพ ที่มีต้นทุนเคยชนะเลิศการออกแบบตกแต่งสวน “งานเชลซี ฟลาวเวอร์” ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ 6 ปีซ้อน

กับเคยได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ตกแต่งไม้ประดับรอบพระเมรุถวายพระเพลิง ร.9 เมื่อ 26 ตุลาคม 2560...ทีโออาร์ค่ายนี้จึงไม่เก๊เกินจริงจากคุณสมบัติข้างต้น

กัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชฯ บอกว่า การออกแบบเน้นในเรื่องปัจจัยพื้นฐาน อาทิ การเพิ่มช่องทางจราจรจากเดิมกว้าง 3 เมตรออกไปทางชายหาด โดยไม่กระทบสภาพแวดล้อมทางทะเล และกรมเจ้าท่าก็เห็นด้วย

นอกจากนี้ปรับพื้นที่จอดรถกับทางเดินเท้าและลานจัดกิจกรรมรับอีเวนต์ โดยเฉพาะสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการและสูงวัยวีลแชร์ ซึ่งมีทางลาดสู่ห้องน้ำคนพิการกับทางลาดลงสู่ชายหาดตามมาตรฐานอารยะสถาปัตย์ และ “ทัวริซึม ฟอร์ ออล”...ท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล

“ส่วนแลนด์สเคป 10 โซน ใช้พืชตระกูลปาล์ม เช่น ย้ายมะพร้าวจากที่มีอยู่เดิม ไม้บางชนิดย้ายก็ตายเพราะโตมากับทราย มีที่ลงเพิ่มเป็นต้นตาลกับอินทผลัม พืชที่เหมาะกับอุณหภูมิริมทะเล และดูดซึมคาร์บอนช่วยสังเคราะห์ตอนกลางวัน คายออกซิเจนตอนกลางคืน”

...

กัมพล ย้ำว่า การพัฒนาคือการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ไม่ใช่โน่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ชอบ อย่าเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง โดยไม่ห่วงความงามของเมืองพัทยา ผมยินดีทำตามมติเมืองพัทยาทุกอย่าง

วันนี้...ถึงพัทยาจะคลายล็อกพื้นที่สีแดงเข้มเขต อ.บางละมุง-สัตหีบ สู่สีสันสดใสรับท่องเที่ยวบริบทใหม่ ภูมิทัศน์ใหม่ ที่สะท้อนให้เห็นว่าการ “พัฒนาเมือง” คือหัวใจนำไปสู่การ “พัฒนาตลาด” ท่องเที่ยว ให้เป็น “พัทยาโมเดล”...

กระนั้นแล้วก็ต้องไม่ลืมเกราะหลักสำคัญ นั่นก็คือการดำเนินเป็นไปที่พร้อมอยู่คู่ “โควิด-19” แทนถูกปิดเมืองซ้ำซาก.