วิสาหกิจชุมชนปลานิลแปลงใหญ่ ต.ท่าข้าม สุดเข้มแข็ง เกษตรกรจับมือรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นกลุ่มส่งเสริมอาชีพ เลี้ยงปลาในกระชัง แปรรูปส่งขาย สร้างรายได้งาม


เมื่อวันที่ 17 มี.ค.64 นางสาวนุชจรี บุญมี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลานิลแปลงใหญ่ ตำบลท่าข้าม กล่าวว่า ผู้เลี้ยงปลา ต.ท่าข้าม อ.พนัสนิคม ในปี 2560 มีสมาชิก 15 ราย จนกระทั่ง เดือนตุลาคม ปี 2560 กรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการระบบเกษตร แบบแปลงใหญ่ และได้จดทะเบียนเป็น “วิสาหกิจชุมชนปลานิลแปลงใหญ่ ต.ท่าข้าม อ.พนัสนิคม” โดยมีสมาชิกร่วมก่อตั้ง จำนวน 28 ราย ต่อมาได้รับงบประมาณสนับสนุน จากโครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย จำนวน 300,000 บาท ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการแปรรูป และได้มีหน่วยงานราชการร่วมบูรณาการให้การสนับสนับสนุนจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีผู้สนใจที่มาศึกษาดูงานได้นำไปเป็นแบบอย่างแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการแก้ไข ปัญหาด้านการเกษตรต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ในด้านการลดต้นทุนการผลิต การอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อการเกษตร และการสร้างรายได้ให้แก่สมาชิก จึงเกิดเป็นการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนปลานิลแปลงใหญ่ ต.ท่าข้าม อ.พนัสนิคม เพื่อการผลิตอาหารอัดเม็ดลอยน้ำ แปรรูปปลานิลเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น จ๊อปลาเพื่อสุขภาพ ปลานิลแดดเดียว ปลายอพริกไทยดำ คั่วกลิ้งปลานิล คุณภาพ GAP ผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองมาตรฐาน อย. และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อยู่ระหว่างดำเนินการขอการรับรอง เป็นการสร้างรายได้ โดยการส่งเสริมด้านการลดต้นทุนการผลิต และการส่งเสริมการทำการเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่เด่นกิจกรรมหนึ่ง ภายใต้ศูนย์เรียนรู้การจัดการด้านประมงแบบครบวงจรของชุมชนนี้

...

นางสาวนงขวัญ ภู่พุ่ม เกษตรอำเภอพนัสนิคม จ.ชลบุรี กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนปลานิลแปลงใหญ่ ต.ท่าข้าม มีการประสานงานกับหน่วยงานในและนอกพื้นที่เป็นประจำ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนากลุ่ม การบูรณาการเชื่อมโยง เครือข่ายการสนับสนุนของภาครัฐ หลายหน่วยงาน เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมประมง ในการให้เกษตรกรมารวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่เพื่อการบริหารจัดการ เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรในการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรในชุมชนให้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน ส่งเสริมความรู้ด้านการผลิตและการจัดการสินค้าเกษตรให้ปลอดภัยและได้มาตรฐาน เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน หากกรณีมีปัญหา หรือข้อหารือ กลุ่มจะประชุมเร่งด่วนเพื่อแก้ไข เช่น ปัญหาด้านผลผลิตตกต่ำ ผลผลิตขาดตลาด ภัยธรรมชาติ เป็นต้น โดยกลุ่มมีการจัดตั้งกองทุนอาหารปลาอัดเม็ด และจำหน่ายให้กับสมาชิกในราคาถูก ปัจจุบันมีกองทุน หมุนเวียนในการซื้ออาหารอัดเม็ดจำหน่ายให้กับสมาชิก จำนวน 100,000 บาท และยังมีการระดมหุ้นในการออมเงินและเป็นกองทุนกู้ยืมเงินให้กับสมาชิกในอัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับการประกอบอาชีพด้านการเกษตร