แพลงก์ตอนเรืองแสง "แม่น้ำบางปะกง" อัศจรรย์ธรรมชาติ หลังน้ำเค็มหนุน ชาวบ้านฮือฮาแห่ล่องเรือชม เผยเกิดขึ้นไม่บ่อย นานๆเห็นที ชัดมากในคืนเดือนมืด 

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 3 ก.พ.64 ผู้สื่อข่าวรายบรรยายกาศ จากท่าเทียบเรือหน้าวัดแจ้ง อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ว่า มีประชาชนเดินทางมาต่อคิวซื้อตั๋วลงเรือโดยสาร เพื่อล่องดูแม่น้ำบางปะกงเรืองแสง ซึ่งเกิดจากแพลงก์ตอนเรืองแสงชนิดหนึ่ง ที่ลอยมากับน้ำเค็มไหลหนุนแม่น้ำบางประกง ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อย จึงสร้างความฮือฮากับผู้คนที่พบเห็นเป็นอย่างมาก 

โดย น.ส.วรยา จ้อยเจริญ หนึ่งในเจ้าของเรือนำเที่ยวชม เล่าว่า แพลงก์ตอนมากับน้ำทะเล ปีนี้แม่น้ำบางปะกงถูกน้ำเค็มหนุนไหลเข้ามาเกือบถึง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งความเค็มจัดจะอยู่ที่ อ.บางคล้า โดยส่วนใหญ่จะเห็นการเรืองแสงในช่วงคืนเดือนมืด ซึ่งจะชัดเจนมากช่วงดึก โดยจะเห็นได้ในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนก็จะไม่เห็น เพราะจะมีน้ำจืดเข้ามาแทนที่น้ำเค็ม ก็จะไม่พบเจอแพลงล์ตอนเรืองแสงอีก

สำหรับแพลงก์ตอนเรืองแสง (Bioluminescence) เป็นแพลงก์ตอนพืช หรือไฟโทแพลงก์ตอน คือ แพลงก์ตอนที่สามารถสังเคราะห์แสงและสร้างอาหารได้เอง ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศ พบได้ทั้งในระบบนิเวศน้ำจืดและน้ำเค็ม ตลอดจนในระบบนิเวศน้ำกร่อย แพลงก์ตอนพืชส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกสาหร่าย โดยแพลงก์ตอนที่ทำให้เกิดเรืองแสงนั้น จะเป็นแพลงก์ตอนพืชในกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลต เมื่อแพลงก์ตอนได้ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนใต้น้ำ และอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เมื่อถูกรบกวนหรือมีวัตถุกระทบ จะทำให้ผนังเซลล์เกิดการเรืองแสงเป็นสีเขียวหรือสีน้ำเงิน 

อย่างไรก็ตามแพลงก์ตอนเรืองแสงที่เรามองเห็นนั้น อาจเป็นอันตรายต่อปลาและสิ่งมีชีวิตอื่นๆในน้ำ เพราะแพลงก์ตอนหรือสาหร่ายเซลล์เดียว จะปิดกั้นไม่ให้แสงอาทิตย์ส่องลงไปยังแหล่งน้ำได้ ทำให้พืชที่อยู่ใต้น้ำตาย เนื่องจากไม่สามารถรับแสงอาทิตย์เพื่อสังเคราะห์แสงและสร้างอาหารได้ ทำให้สัตว์อื่นที่กินพืชตายตามไปด้วย เนื่องจากไม่มีแหล่งอาหาร ขณะเดียวกันเมื่อสาหร่ายตายลงก็ต้องใช้ออกซิเจนในการย่อยสลาย ทำให้เกิดภาวะออกซิเจนในน้ำลดลงและค่าแอมโนเนียในน้ำสูง ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำซึ่งต้องอาศัยออกซิเจนในการดำรงชีวิต

...