ผู้ประกอบการรถมินิบัสโดยสารประจำทางที่ระยอง โอดครวญรัฐไม่เหลียวแล หลังพิษโควิด-19 เล่นงานแทบกระอัก รถนับร้อยคันจอดตายสนิท แถมขาดรายได้ ต้องส่งค่ารถ ทนขาดทุนไม่ไหว เพราะไม่มีคนเดินทาง
เมื่อวันที่ 13 ม.ค.64 ผู้สื่อข่าวได้พบ นายสุรศักดิ์ ทรงธรรม อายุ 69 ปี ชาวบ้าน ถนนสุขุมวิท ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง เจ้าของรถทัวร์มินิบัสรายใหญ่ ระยอง 4 เส้นทาง สายระยอง-กรุงเทพฯ ระยอง-จันทบุรี พัทยา-บ้านแหลม ระยอง-อู่ตะเภา เป็นเจ้าของเองทั้งหมด โดยรถบัสโดยสารประจำทางจำนวนนับร้อยคันของบริษัท บีเฮช (BH) ถูกนำมาจอดเรียงรายไว้ในอู่ที่บ้าน หลังสถานการณ์ระบาดโควิด-19 กลับมาระบาดระลอกใหม่ เพราะผู้คนไม่เดินทางเพราะเกรงกลัวโรคโควิด-19 จนส่งผลทำให้ไม่สามารถที่จะยืนหยัดทนต่อการขาดทุนไม่ไหว จึงต้องหยุดวิ่งไปโดยปริยาย และต้องมารับแบกภาระค่าใช้จ่าย ทั้งค่าส่งรถจำนวนนับร้อยคัน ค่าพนักงานอีกจำนวนกว่าร้อยคน
นายสุรศักดิ์ ทรงธรรม หรือฉายาตี๋แขวง ผู้ประกอบการเจ้าของบริษัท บีเฮช เดินรถระยอง บอกว่า สถานการณ์ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่นี้รุนแรงหนักกว่าครั้งที่แล้ว ทำเอากิจการเดินรถโดยสารประจำทางของตนต้องถึงกับตายสนิท เพราะจังหวัดระยองเป็นพื้นที่แพร่ระบาด และเป็นพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสูงสุดเข้มงวด จากเรื่องบ่อน ผู้คนหวาดผวากับเชื้อโควิด-19 จนไม่มีคนเดินทาง ถ้าจะเดินทางมาต้องมีหนังสือไปด้วยซึ่งยุ่งยาก คนจึงไม่เดินทาง และงดการเดินทางตามมาตรการขอความร่วมมือจากภาครัฐ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
...
ผู้ประกอบการเจ้าของบริษัท บีเฮช เดินรถระยอง กล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ ต้องงดหยุดวิ่งรถไปโดยปริยายแบบไม่ต้องให้รัฐมาสั่งหยุด เพราะขาดทุน วิ่งไปก็ไม่มีผู้โดยสาร และส่งผลทำให้รายได้ที่ได้จากกิจการเดินรถโดยสารในแต่ละวันหายไปทันที เวลานี้ต้องแบกรับภาระไฟแนนซ์ก็ตามมาจะยึดอย่างเดียว ทำให้สุขภาพจิตผวา เครียด กินไม่ได้นอนไม่หลับ สร้างตัวเองมาจากศูนย์ทั้งชีวิตหนี้ผ่อนส่งงวดรถจำนวนนับร้อยคัน รวมทั้งพนักงานขับรถอีกนับร้อยชีวิต ยังมองหาทางที่จะหาเงินมาจ่ายภาระหนี้เหล่านี้ เนื่องจากหยุดวิ่งรถมาแล้วร่วมเดือน ถ้าสตาร์ตรถก็ต้องจ่ายแล้วคันหนึ่ง 2,500 บาท ค่ารถสึกหรอ ค่าน้ำมัน ค่าแรงงานค่าคนขับ เงินต้องจ่ายเลี้ยงลูกน้องทุกวัน หลังจากเกิดสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ปะทุขึ้นมาระลอกใหม่ในจังหวัดระยอง
นายสุรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า อยากวิงวอนภาครัฐให้ลงมาเหลียวแลให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเดือดร้อนบ้าง มาช่วยแก้ไขผัดหนี้ก็ยังดี โดยเฉพาะผู้ประกอบการเดินรถโดยสารประจำทางท้องถิ่น ยอมรับว่าที่ผ่านมาพวกตนไม่เคยได้รับการเหลียวแลและช่วยเหลือแต่อย่างใดจากภาครัฐเลย อย่างน้อยขอภาครัฐช่วยเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ยกับไฟแนนซ์ เพื่อขอผัดผ่อนชำระหนี้ค่างวดรถออกไปก่อน เพราะช่วงนี้ไม่มีรายได้ แถมต้องจ่ายเงินเลี้ยงดูพนักงานอีกด้วย โดยยอมรับสภาวะจิตใจขณะนี้ตกอยู่ในภาวะเครียดอย่างหนัก หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการจอดสนิทแน่.