ปมเหตุสะเทือนขวัญ “สุนัขเห่าเสียงดังรบกวนเพื่อนบ้าน” ลุกลามบานปลายจนต่อว่ากัน ทำให้อีกฝ่าย “เลือดขึ้นหน้า” ชักปืน 9 มม. รัวยิง 2 ผัวเมียเจ้าของเสียชีวิต ในท้องที่ สภ.เสม็ด อ.เมืองชลบุรี

เหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงนี้ไม่ใช่เกิดเป็นครั้งแรก... แต่ยังมี “สัตว์เลี้ยงดุร้ายหลุดออกมาขย้ำเพื่อนบ้าน” มีทั้งได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต ที่มักเกิดกันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะความขัดแย้ง “คนเลี้ยงสุนัข แมวกับเพื่อนบ้าน” มักก่อปัญหาเล็กน้อยให้จุกจิกกวนใจ ทั้งเสียง กลิ่น การขับถ่ายไม่เป็นที่

สาเหตุจาก “ความมักง่าย และปล่อยปละละเลย” ที่ขาดระบบการจัดการที่ดี ทำให้เกิดกระทบกระทั่งกันกับเพื่อนบ้านตามมาเช่นนี้...

ถ้าพูดกันจริงๆแล้ว...“กฎหมายเกี่ยวข้องสัตว์เลี้ยง” ก็มีบังคับเป็นกรอบปฏิบัติอยู่มากมาย เพื่อความสงบเรียบร้อย ทั้ง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535

หากว่า...สัตว์เลี้ยงก่อความเสียหายต่อร่างกาย และทรัพย์สินผู้อื่น ก็มีโทษในคดีแพ่ง และคดีอาญาด้วยซ้ำ ดังนั้น “ผู้เลี้ยงสัตว์” ควรมีความรับผิดชอบต่อตัวสัตว์นั้น และความรับผิดชอบต่อผู้อื่นด้วย

สัตว์เลี้ยงสร้างความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่นนี้ “คมเพชญ จันปุ่ม” หรือ “ทนายอ๊อด” ประธานเครือข่ายทนายชาวบ้าน บอกว่า ทุกคน มีสิทธิเลี้ยงสัตว์ได้ทุกประเภท แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย เพื่อไม่ให้สร้างความเดือดร้อน หรือเป็นภัยอันตรายต่อทรัพย์สิน และบุคคลอื่น

...

การเลี้ยงสัตว์นี้ต้องควบคุมให้อยู่ในขอบเขตที่ถูกต้อง ดังนั้น “คนเลี้ยง” ไม่ใช่แค่ดูแลชีวิตสัตว์เท่านั้น แต่ยังต้องรับผิดชอบต่อสังคม และคนอื่นรอบข้างด้วย...

เริ่มตั้งแต่ “ใส่ปลอกคอสัตว์เลี้ยง” ที่เป็นเสมือนการแสดงให้เห็นว่า “สัตว์ตัวนั้นมีเจ้าของแล้ว” อีกทั้งถ้า “สัตว์เลี้ยง” หายออกจากบ้าน หรือก่อความเดือดร้อนต่อคนอื่น ก็สามารถติดตามเจ้าของสะดวกง่ายยิ่งขึ้น

กลับกันถ้า...สัตว์เลี้ยงถูกกระทำการละเมิด เรื่องนี้ “เจ้าของ” มีสิทธิเรียกค่าเสียหายโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนกรณี “ไม่มีปลอกคอ” ถ้าอาศัยอยู่กับใครในลักษณะดูแลให้อาหารแสดงตัวชัดเจน ก็ย่อมเป็นของคนนั้น

ประเด็น...“สัตว์เลี้ยง” ออกเขตบ้านด้วยวิธีใดก็แล้วแต่แล้ว “วิ่งไล่กัดหรือทำลายทรัพย์ผู้อื่น” ผู้เป็นเจ้าของสัตว์นี้ก็ย่อมต้องมีหน้าที่รับผิดชอบตาม “ความผิด ป.อ.ม.377” กำหนดให้ผู้ปล่อยปละละเลยให้สัตว์ดุ หรือสัตว์ร้ายเที่ยวเตร็ดเตร่ไปตามลำพัง ไม่ควบคุมดูแลให้ดี ที่อาจทำอันตรายแก่บุคคลหรือทำให้ทรัพย์เสียหาย

ต้องโทษจําคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 พันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ส่วนนิยาม “สัตว์เลี้ยงดุร้าย” ตามฎีกาที่ 151/2505 ให้ความหมาย 2 จำพวก คือ “สัตว์ดุ” โดยธรรมชาติที่มิใช่สัตว์ร้ายที่เจ้าของต้องควบคุมดูแลเป็นพิเศษ ส่วน “สัตว์ร้าย ” โดยธรรมชาติของสัตว์ที่มีนิสัยทั้งดุที่เป็นภยันตรายอันน่าสะพรึงกลัวต่อบุคคลผู้ได้พบเห็น เช่น เสือ จระเข้ หรืองูพิษ เป็นต้น

และฎีกาที่ 162/2523 วินิจฉัยว่า “สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยง” แต่ก็อาจเป็นสัตว์ที่ดุได้โดยธรรมชาติที่ต้องดูพฤติการณ์เป็นเรื่องไป คดีนี้ยุติว่าสุนัขเคยกัดเป็ดของผู้เสียหายมาก่อนหลายครั้ง ในครั้งนี้ก็กัดเป็ดผู้เสียหายตายและบาดเจ็บหลายสิบตัว ถือว่าเป็นสัตว์ดุตามความหมาย ป.อ.ม.377

อีกทั้งยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในคดีแพ่งได้อีกด้วย ตาม ป.พ.พ.ม.433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์ หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับไว้แทน จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่เสียหาย เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงดีแล้ว...

แต่ว่าความเสียหายนี้ต้องเกิดจากสัตว์นี้โดยตรง เช่น สุนัขหายออกจากบ้านแล้วไปกัดคนอื่น หรือปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติแล้วไปทำความเสียหาย “เจ้าของต้องรับผิด” ที่อาจเกี่ยวกับ ป.พ.พ.ม.446 กรณีมีความเสียหายแก่ร่างกาย อนามัย และเสียเสรีภาพ ก็สามารถเรียกร้องค่าสินไหมได้

นอกจากนี้ยังสามารถเอาผิดเจ้าของสัตว์เลี้ยง กรณีผู้เสียหายเป็นอันตรายสาหัส ตาม ป.อ.ม.300 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หากได้รับอันตรายไม่มากก็มีโทษ ตาม ป.อ.ม.390 ในฐานประมาท ทำให้ผู้อื่น บาดเจ็บทั้งกายและใจ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 พันบาท

...

ถ้าพิสูจน์ได้ว่า “เจ้าของสัตว์ประมาท” อาจเข้าข่าย ป.อ.ม.291 ผู้ใดกระทำประมาทจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต โทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ยกเว้นสัตว์เลี้ยงอยู่ในบ้านดีๆ กลับเข้าไป “เร้าหรือยั่วยุ” ทำให้หลุดออกมากัดขึ้นได้ลักษณะเช่นนี้ก็ไม่อาจเรียกร้องจากเจ้าของสัตว์ได้

ตามกฎหมาย “สัตว์เป็นสังหาริมทรัพย์” ถ้าเจ้าของเลิกการครอบครองแสดงเจตนาสละกรรมสิทธิ์สัตว์นั้นก็ไม่มีเจ้าของแล้ว ดังนั้นเพียง “สัตว์หนีหาย” ไปทำความเสียหาย “เจ้าของย่อมต้องรับผิด” เช่นเดิม...

และมีคำถามว่า...“สัตว์จรจัด” กัดผู้อื่นหรือทำลายทรัพย์เรียกร้องใครได้ ต้องบอกแบบนี้ว่า “ความเป็นเจ้าของสัตว์” อาจพิจารณาตามพฤติการณ์ปฏิบัติต่อสัตว์อย่างเป็นเจ้าของได้ เช่น สุนัขจรจัดมาอาศัยนอนอยู่หน้าบ้าน และเจ้าของบ้านได้เลี้ยงดูเอาข้าวให้กินเป็นประจำเช่นสัตว์เลี้ยงของตัวเช่นนี้ย่อมเป็นเจ้าของสุนัขนั้นก็ได้

...

ปัญหามีอยู่ว่า “ทุกครั้งสัตว์เลี้ยง” ก่อเหตุละเมิดทำร้ายคนอื่น มักไม่มีผู้แสดงความเป็นเจ้าของเสมอ ดังนั้นก็ทำได้เพียงแจ้ง “หน่วยงานท้องถิ่น” เพื่อกักขัง ถ้าไม่มีผู้มารับคืนตามกำหนด ก็จะควบคุมในการรักษาสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสม ในการป้องกันชีวิตประชาชน และป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์

แต่ถ้าแจ้งหน่วยงานท้องถิ่นแล้ว กลับไม่ดำเนินการกับ “สัตว์จรจัด” ที่อาจเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดไว้ หากสัตว์จรจัดมารบกวน หรือทำร้ายผู้อื่น ส่งผลให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายขึ้น ก็อาจสามารถฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่หน่วยงานท้องถิ่นนั้น ให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายก็ได้

ดังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.1751/2559 “ผู้เสียหาย” แจ้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดำเนินการสุนัขจรจัดมาไล่ต้อนรุมเห่ารุมกัดนกกระจอกเทศ เกิดอาการหวาดผวาไม่ออกไข่ตามปกติ เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีมีรายได้ในอาชีพลดลง ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งหน่วยงานท้องถิ่นต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี

“สิ่งสำคัญหน่วยงานรัฐควบคุมสัตว์เลี้ยง สัตว์จรจัด เพื่อป้องกันรักษาความปลอดภัยให้ประชาชน และจัดระเบียบสิ่งแวดล้อมนี้ก็ไม่ง่าย โดยเฉพาะสุนัข และแมว เพราะมีกลุ่มโลกสวย หรือมูลนิธิฯ ต่างจ้องเรียกร้องประจำ แต่ถ้าสุนัขก่อเหตุรำคาญและขย้ำกัดเด็กเสียชีวิตกลับไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบใดๆ” ทนายอ๊อด ว่า

ประการต่อมา...“สัตว์เลี้ยงก่อเหตุรำคาญต่อผู้อื่น” ในบางครั้งกลายเป็นความขัดแย้ง ทำให้เจ้าของสุนัข และเพื่อนบ้านมองหน้ากันไม่ติด ในเรื่องนี้ก็มี พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 ให้ส่วนราชการท้องถิ่น มีอำนาจในกรณีมีเหตุเดือดร้อนรำคาญ ออกคำสั่งให้แก้ไข เพื่อระงับเหตุรำคาญนั้น

...

ดังนั้น “ผู้เดือดร้อน” อาจแจ้งเจ้าของสัตว์แก้ไขก่อน ถ้าไม่ดำเนินการก็แจ้งหน่วยงานท้องถิ่นก็ได้ หากไม่แก้ไขตามคำสั่งหน่วยงานท้องถิ่นอีก อาจเข้าข่าย พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 หรือข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ.2548

เพื่อลดการเผชิญหน้าความขัดแย้ง กลายเป็นเหตุบานปลายทำร้ายกันรุนแรง แต่เชื่อว่า “เหตุทะเลาะวิวาทเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง” มักไม่ใช่ต้นเหตุ “ฆ่ากันตายได้” ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องอื่นเข้ามาร่วมผสมโรงอยู่ด้วยเสมอ จนเกิดการบันดาลโทสะถึงขั้นลงไม้ลงมือทำร้ายกันจนเสียชีวิตขึ้นได้มากกว่า...

ส่วนกรณี “สัตว์ไม่มีปลอกคอเข้าบ้านผู้อื่น” เจ้าของบ้านย่อมมีสิทธิ์นำออกจากบ้านได้ตามสมควร แม้ภายหลังว่า “สัตว์นั้นจะเสียชีวิต” ก็ไม่สามารถเรียกร้องจากเจ้าของบ้านได้ ด้วยเหตุว่า “เจ้าของสัตว์” มีหน้าที่ดูแลไม่ให้ออกจากบ้านลำพังที่อาจไปก่อความรำคาญผู้อื่น ยกเว้น “เจ้าของบ้าน” ทำให้ตายก่อนแล้วนำไปทิ้งนอกบ้านนี้...

สุดท้ายนี้...“ไม่พร้อมอย่าเลี้ยง” เพราะจะสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้คนอื่น กลายเป็นเรื่องบาดหมางกันโดยใช่เหตุ ซ้ำร้ายบานปลายเป็นเหตุโศกนาฏกรรมอย่างที่เคยเกิดขึ้นบ่อยๆนี้ได้ด้วยซ้ำ...