วพ.เชตุพน-วท.อี.เทค คว้าแชมป์แข่งตอบปัญหาทางบัญชี รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนเรียนฟรีจาก CIBA_มธบ.


ปิดฉากการแข่งขันปีที่ 7 เป็นที่เรียบร้อยสำหรับการแข่งขันตอบปัญหาทางบัญชี “สัมมาอาชีวบัญชี มหาจักรีสิรินธร” ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมรับทุนเรียนฟรี จาก CIBA_มธบ. จัดโดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

ครั้งนี้ ทีมจากวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค.) จ.ชลบุรี ประกอบด้วย นางสาวอมลวรรณ มณเฑียรเงิน นางสาวนารีลักษณ์ วรรณโวหาร และนายปฏิภาณ ทรัพย์ทวีปัญญา ทั้งหมดเป็นนักศึกษาชั้น ปวส.ปีที่ 2 เป็นทีมคว้ารางวัลชนะเลิศระดับ ปวส.ไปครอง ส่วนรางวัลชนะเลิศระดับ ปวช.ตกเป็นของทีมจากวิทยาลัยพาณิชยการเชตุพน กรุงเทพฯ ประกอบด้วย นางสาวเขมิกา สุขโรจน์ ปวช.3 นางสาวสะกีนะฮ์ กสิบุตร ปวช.2 และ นางสาวอารียา อ่อนนิ่ม ปวช.3

...

ผศ.ดร. ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (College of Innovative Business and Accountancy: CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า นับเป็นปีที่ 7 ของการจัดการแข่งขัน โดยมีทีมสมัครเข้าร่วมแข่งขันจากสถาบันการอาชีวะศึกษาทั่วประเทศ ในระดับ ปวช.จำนวน 65 ทีม และระดับ ปวส. จำนวน 56 ทีม นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียน-นักศึกษา สาขาวิชาบัญชีได้พัฒนาทักษะทางด้านบัญชี รวมถึงทักษะทางด้านการสื่อสาร และการทำงานร่วมกันเป็นทีม

“ปัจจุบันการเรียนในห้องเรียนไม่เพียงพอสำหรับสายอาชีพบัญชีอีกต่อไป เนื่องจากเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว งานรูทีนหรืองานที่ทำแบบซ้ำๆ เดิมๆ ในสายอาชีพนี้ บางอย่างอาจถูกทดแทนด้วย AI (artificial intelligence) ดังนั้นนักเรียน-นักศึกษาจำเป็นต้องฝึกฝนตนเองและเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ เพื่อก้าวให้ทันโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การเปิดเวทีตอบปัญหาทางบัญชี ถือเป็นการติดอาวุธสำคัญ ที่ช่วยเพิ่มพูนทักษะ รวมถึงอัปเดตความรู้ในสายงานบัญชีที่มีการเปลี่ยนแปลง อาทิ มาตรฐานการรายงานทางการเงิน เป็นต้น ทั้งนี้ สายอาชีพบัญชีเป็นฟันเฟืองสำคัญในการประกอบธุรกิจ แม้ยุคนี้จะเป็นยุคของเทคโนโลยี แต่ทุกองค์กรยังต้องการแรงงานจากคน เพราะเทคโนโลยีทำงานแทนมนุษย์ได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ส่วนการวิเคราะห์เชิงลึก การวางแผนงานระดับสูงเพื่อสื่อสารกับผู้บริหารยังเป็นหน้าที่ของนักบัญชี” ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าว

ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ขณะนี้ไทยได้จัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangements : MRAs) กับกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้าย นักวิชาชีพ แรงงานเชี่ยวชาญ หรือผู้มีความสามารถพิเศษได้อย่างเสรี ใน 8 สาขาวิชาชีพ อาทิ อาชีพนักบัญชี อาชีพแพทย์ อาชีพสถาปนิก เป็นต้น ดังนั้น นักเรียน-นักศึกษา ที่พัฒนาศักยภาพและทักษะของตนเองอยู่เสมอ จะเพิ่มโอกาสในการทำงานในต่างประเทศได้มากขึ้น

นายปฏิภาณ ทรัพย์ทวีปัญญา (แม็ค) นักศึกษาชั้นปวส.ปีที่ 2 สาขาวิชาการบัญชี วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค.) จ.ชลบุรี ในฐานะตัวแทนทีมชนะเลิศระดับ ปวส. กล่าวว่า กว่า 4 เดือน ในระหว่างเตรียมตัวได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากเวทีการแข่งขันต่างๆ ถึง 2 เวทีด้วยกัน จึงทำให้พอรู้แนวข้อสอบบ้าง ส่วนอาจารย์ที่ปรึกษาได้ช่วยติวและชี้ทิศทางแนวข้อสอบ เพื่อให้เราศึกษาและทำความเข้าใจ ที่สำคัญการทำงานเป็นทีมมีส่วนช่วยให้ผลสอบออกมาดี เพราะก่อนการแข่งขันได้แบ่งหน้าที่กันชัดเจนตามความถนัดของแต่ละคน โดยส่วนตัวจะถนัดการวิเคราะห์โจทย์และสูตรคำนวณ ส่วนเพื่อนอีก 2 คน ถนัดด้านทฤษฎีและการคำนวณสูตร ดังนั้นเมื่ออยู่ในสนามแข่งจึงรู้เมนหลักว่าใครต้องทำอะไร

...

“สาเหตุที่ผมเรียนบัญชี เพราะมองว่าสายอาชีพนี้รายได้ดีและมีความมั่นคง หลังจากนี้ต้องกลับไปพัฒนาทักษะด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น อาทิ ทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ ทักษะด้านโปรแกรมสำเร็จรูปที่เกี่ยวกับบัญชี เป็นต้น เพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมกับการทำงานที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยี ฝากถึงน้องๆ ที่เรียนในสาขาบัญชีและกำลังก้าวเข้าสู่เวทีการแข่งขัน จงอย่ากลัวการถูกแย่งงานจาก AI เพราะสิ่งนี้ทดแทนงานด้านพื้นฐานหรืองานรูทีนเท่านั้น” นายปฏิภาณ กล่าว

ขณะที่นางสาวนารีลักษณ์ วรรณโวหาร (เอิน) เพื่อนร่วมทีม กล่าวเสริมว่า ทีมของเราทั้งหมด 3 คนเตรียมตัวโดยการช่วยกันจัดตารางติว โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาช่วยดูโจทย์และให้คำแนะนำตลอด ซึ่งท่านก็ให้คำแนะนำพร้อมบอกเทคนิคในการทำข้อสอบ ระหว่างการแข่งขันเราจึงนำเทคนิคและวิธีคิดตามที่ซ้อมมาใช้ในสนาม ซึ่งในการทำโจทย์จะมีข้อจำกัดห้ามใช้เครื่องคิดเลข แต่เราก็สามารถทำได้ เพราะแบ่งหน้าที่หลักของแต่ละคนไว้แล้ว

“การลงแข่งขันครั้งนี้โจทย์ไม่ได้ง่าย การเตรียมความพร้อมและการทำงานเป็นทีมมีความสำคัญมากต่อผลงานที่ออกมา รู้สึกดีใจมากค่ะที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เพราะจะได้รับทุนการศึกษาเรียนต่อจนจบปริญญาตรี ที่สำคัญรางวัลนี้ จะเป็นใบเบิกทางที่เพิ่มโอกาสในการสมัครงาน ซึ่งส่วนตัวอยากเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี เนื่องจากเป็นอาชีพที่มีรายได้สูงและมีความมั่นคง” นางสาวนารีลักษณ์ กล่าว
 

...

ด้าน นางสาวอารียา อ่อนนิ่ม (อาร์) นักเรียนชั้นปวช.ปีที่ 3 สาขาวิชาการบัญชี วิทยาลัยพาณิชยการเชตุพน กรุงเทพฯ ในฐานะตัวแทนทีมชนะเลิศระดับปวช. กล่าวว่า ทีมของตนมีความฝันอยากเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีเหมือนกัน จึงสมัครลงแข่งขันการตอบปัญหาทางด้านบัญชีครั้งนี้ เพื่อฝึกทักษะและพัฒนาตนเอง ส่วนการเตรียมตัวทีมเราจะดูหัวข้อสอบแล้วแบ่งเนื้อหาให้แต่ละคนไปศึกษา การได้รางวัลชนะเลิศถือเป็นความภาคภูมิใจมาก เพราะเราทุ่มเทและตั้งใจในการแข่งขัน ที่สำคัญกิจกรรมนี้มีผลต่อการสมัครงานในอนาคตด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รางวัลชนะเลิศแต่ก็ต้องกลับไปพัฒนาตนเอง เพื่อให้ก้าวทันโลกและเทคโนโลยี เพราะขณะนี้ AI ได้เข้ามามีบทบาทในสายอาชีพบัญชีมากขึ้น เราจึงต้องเพิ่มทักษะและเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ เพื่อให้ทำงานควบคู่เทคโนโลยีในอนาคตได้

“โดยส่วนตัวเป็นคนชอบตัวเลข ชอบคณิตศาสตร์ จึงเลือกเรียนบัญชีเพราะได้อยู่กับตัวเลข ปัจจุบันการทำงานสายอาชีพบัญชีไม่ได้จำเจอย่างที่คิด เช่น อาชีพผู้ตรวจสอบบัญชี มีโอกาสเดินทางไปทำงานหลากหลายพื้นที่ ทำให้ได้ประสบการณ์ในหลายด้าน นอกจากนี้ยังสามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับไปต่อยอดการทำงานในต่างประเทศได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย” นางสาวอารียา กล่าว...

...