สสจ.สระแก้ว ออกแถลงชี้แจง ยัน 4 ชาวสระแก้วที่กลับจากญี่ปุ่น มาจากนาโกย่า คนละเที่ยวบินกับปู่ย่าติดโควิด-19 ที่มาจากฮอกไกโด โดยจากการตรวจพบผลติดเชื้อเป็นลบ และทุกคนร่วมมือยอมกักตัว 14 วัน

จากกรณีมีการแชร์ข้อมูลจากโลกออนไลน์ว่า ผู้โดยสารชาวสระแก้ว 4 ใน 5 มากับเที่ยวบินที่ปู่ย่าติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ชาวจังหวัดสระแก้วแตกตื่นและหวาดผวา มีการส่งต่อกันทั้งไลน์และโซเชียลอื่นๆ หลายคนออกมาประณามคนที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงมากมาย อาทิ อ.วัฒนานคร อ.เมือง อ.เขาฉกรรจ์ อ.อรัญ และ อ.วังน้ำเย็น

บ่ายวันนี้ 1 มี.ค. 63 ผู้สื่อข่าวได้ประสานไปยัง พญ.อรรัตน์ จันทร์เพ็ญ รอง นพ.สสจ.สก. เปิดเผยว่า ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ขอชี้แจงว่า "ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง" ข้อเท็จจริง คือ

1. ปู่-ย่า ที่ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เดินทางมาด้วยเที่ยวบินที่ XJ621 ซัปโปโร-ดอนเมือง วันที่ 20 ก.พ.63 ในขณะที่ข่าวที่อ้างถึงได้ระบุว่า "...มีผู้โดยสารซึ่งเป็นผู้ปกครองนักเรียนของโรงเรียนได้เดินทางไปกับเที่ยวบินดังกล่าว จำนวน 4 คน โดยเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านทองในเขตตัวเมืองวัฒนานคร ซึ่งหลังกลับจากญี่ปุ่นยังคงเปิดร้านทองตามปกติ และขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง..."

2. จากการตรวจสอบของโรงพยาบาลวัฒนานคร พบว่า กลุ่มที่ข่าวอ้างถึงดังกล่าวทั้ง 4 คน ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นจริง แต่ไม่ได้เดินทางมากับเที่ยวบินดังกล่าว โดยมากับการบินไทย เที่ยวบิน TG647 จากนาโกย่า-กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 ก.พ.63

3. หลังจากเดินทางกลับมาจังหวัดสระแก้ว ทีมงานโรงพยาบาลวัฒนานคร ได้เดินทางไปตรวจร่างกายและขอความร่วมมือในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

...

4. ในขณะที่เมื่อ 29 ก.พ.63 เวลา 17.20 น. มีข่าวเผยแพร่ทางสื่อระบุว่า นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ยืนยันผู้ที่ร่วมเดินทางจริงในไฟลต์บินเดียวกัน สามารถติดตามตัวมาตรวจเชื้อและผลออกแล้วเป็นลบ แต่การนำข้อมูลขึ้นเพจอาจเป็นความเข้าใจผิด เพราะเห็นว่าจำนวนผู้ที่เข้ามาตรวจยังไม่ครบตามจำนวนเต็มของที่นั่งบนเครื่องบิน แต่จริงๆ เที่ยวบินนั้นไม่ได้มีคนโดยสารเต็มทุกที่นั่ง คนที่ร่วมเดินทางจริง ตามได้ครบหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจติดตามข่าวสารมาก เพราะในแต่ละอำเภอมีคนกลับมาจากประเทศกลุ่มเสียงซึ่งเป็นระดับคหบดีหรือผู้นำท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการเก็บตัวอยู่บ้าน บางรายไปที่ไปตรวจก็ไม่พบรายงานว่าพบเชื้อ ซึ่งอยู่ในกระบวนการของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่บางรายก็ยังใช้ชีวิตปกติทำให้เกิดกระแส แชร์ข้อมูลเท็จ เกิดความหวาดระแวงและแชร์กันในวงกว้าง ซึ่งก็ขอให้ติดตามการข้อมูลจากส่วนราชการ และขอให้ทุกคนป้องกันตนเองตามคำแนะนำ เพราะนอกจากจะป้องกันโรคโควิด-19 แล้วยังสามารถป้องกันไวรัสตัวอื่นๆ ได้เช่นเดียวกันด้วย.