เกษตรภาคตะวันออก เร่งขับเคลื่อนช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ "ควบคุม-ป้องกัน" โรคใบด่างมันสำปะหลังครบวงจร หลังเกิดโรคระบาด พร้อมประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางช่วยกันเฝ้าระวังโรค
เมื่อวันที่ 25 ก.ย.62 นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จ.ระยอง เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการและแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง จึงได้มีการจัดทำโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ประสบปัญหาโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกร ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และความเสียหายของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังทั้งระบบที่อาจเกิดขึ้น ในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถขายผลผลิตคุณภาพดีได้ รวมทั้งเกษตรกรผู้ที่ต้องทำลายต้นมันสำปะหลังทิ้งเพื่อป้องกันการระบาดของโรค สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จ.ระยอง จึงได้เร่งขับเคลื่อนงานดำเนินงานควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างครบวงจร ซึ่งจะเน้นหนักที่พื้นที่พบการระบาด ประกอบด้วย จ.สระแก้ว จ.ปราจีนบุรี และ จ.ชลบุรี โดยดำเนินการร่วมกับเกษตรจังหวัดและคณะทำงานในการสร้างการรับรู้ ควบคู่กับการรณรงค์ให้เกษตรกร เกิดความตระหนักในการติดตามเฝ้าระวัง ป้องกันการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในแปลงปลูกของตนเองอย่างสม่ำเสมอ และแนวทางในการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจำหน่ายแก่เกษตรกรที่ได้รับ การตรวจสอบรับรองข้อมูลแปลงมันสำปะหลังปลอดโรคใบด่าง จากการสำรวจแปลงตนเองอย่างสม่ำเสมอ
"สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จ.ระยอง โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว ได้กำหนดการจัดงานรณรงค์ในพื้นที่ระบาดของจังหวัดสระแก้ว โดยจุดที่ 1 ได้ดำเนินการในวันศุกร์ที่ 6 ก.ย.62 ณ บ้านหนองสิม ต.โคกสูง อ.โคกสูง จุดที่ 2 ในวันอังคารที่ 10 ก.ย.62 ณ บ้านทัพสยาม ต.ตาพระยา จุดที่ 3 ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ก.ย.62 ณ บ้านมะค่าปุ่ม ต.โคคลาน ด้วยการประชาสัมพันธ์ทั้งแบบเข้าถึงตัวเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง และการประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ติดป้ายข้างรถ พร้อมออกรายการวิทยุทาง สวท.สระแก้ว และสปอตวิทยุ เพื่อเป็นการแจ้งเตือนเกษตรกรให้ได้รับรู้อย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันมีการจัดกิจกรรมเวทีกลาง เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ ประเด็นการเรียนรู้ สถานีการเรียนรู้ ควบคู่การจัดแสดงและแจกจ่ายสื่อประชาสัมพันธ์ โปสเตอร์ แผ่นพับ" นายดำรงฤทธิ์ กล่าว
...
ด้าน นายอารยันต์ ท่าใหญ่ นายอำเภอตาพระยา จ.สระแก้ว เป็นประธานในพิธีเปิดวันรณรงค์ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดยมี นายประจักร์ ประสงค์สุข เกษตรจังหวัดสระแก้ว นางอรทัย สมใส เกษตรอำเภอตาพระยา หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเกษตรกรเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ณ ศาลากลางหมู่บ้านมะค่าปุ่ม หมู่ที่ 6 ต.โคคลาน อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว
นายประจักร์ เปิดเผยว่า ภายในงานมีการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมการรับรู้ของเกษตรกรหลายรายการ โดยสถานีที่ 1 จัดเรื่องรู้จักโรค ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับที่มาความสำคัญ เชื้อ สาเหตุโรค ลักษณะอาการ การแพร่ระบาด ผลกระทบและความเสียหายหากเกิดการระบาดของโรคขึ้นมา สถานีที่ 2 ติดตามเฝ้าระวัง เพื่อให้เกษตรกรได้รู้จักถึงวิธีการสำรวจติดตามเฝ้าระวังการระบาดของโรคใบด่าง การจดบันทึกการสำรวจแปลงเพื่อการแนะนำเป็นแปลงสะอาด และการสังเกตอาการและความผิดปกติ ที่แตกต่างจากอาการใบด่างที่เกิดมาจากสาเหตุอื่นๆ สถานีที่ 3 เรื่องท่อนพันธุ์ เป็นการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้รู้จักการใช้ท่อนพันธุ์สะอาด พันธุ์ที่มีความทนทานต่อโรค พันธุ์ที่อ่อนแอ ตลอดถึงความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโดยท่อนพันธุ์ ไปจนถึงข้อควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติเกี่ยวกับการซื้อขายท่อนพันธุ์ สถานีที่ 4 แมลงพาหะ เพื่อให้รู้จักชนิด การแพร่ระบาด การนำโรค การกำจัด และสถานีที่ 5 เกี่ยวกับการป้องกันกำจัด เพื่อให้เกษตรกรได้รู้จักถึงวิธีการป้องกันการระบาด การกำจัดที่ถูกต้อง ตามคำแนะนำหากพบการระบาด นอกจากนี้ภายใต้สถานีเรียนรู้ที่ 5 ได้จัดให้มีจุดสาธิตจำนวน 2 จุด ได้แก่ จุดสาธิตที่ 1 การทำลายต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค มีการแสดงวิธีการทำลายต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคในวันงานรณรงค์ จำนวน 3 จุด และจุดสาธิตในพื้นที่อำเภอตาพระยา จำนวน 40 จุด ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร โดยการคัดเลือกแปลงที่มีการระบาดของโรค 2 ลักษณะ คือ 1) พบต้นเป็นโรคมากกว่า 10 ต้นต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่ ซึ่งจะใช้วิธีฝังกลบโดยให้ถอนต้นมันสำปะหลังทั้งหมดในแปลง และนำไปฝังในหลุมลึกไม่น้อยกว่า 2-3 เมตร โดยไม่ให้มีเหง้าเศษซากหรือชิ้นส่วนของต้นมันสำปะหลังหลงเหลืออยู่ในแปลง พ่นต้นมันสำปะหลังด้วยสารกำจัดวัชพืช อามีทรีน 80% WG และกลบด้วยดินหนาไม่น้อยกว่า 0.5 เมตร หากมันสำปะหลังให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้แล้ว สามารถนำหัวมันสำปะหลังไปจำหน่ายได้ แต่ต้องตัดเฉพาะส่วนของหัวมันสดที่ไม่ติดเหง้า 2) หากพบต้นเป็นโรคน้อยกว่า 10 ต้นต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่ จะใช้วิธีถอนต้นมันสำปะหลังใส่ถุงดำ โดยให้ถอนเฉพาะต้นมันสำปะหลังที่แสดงอาการของโรคด้วยการตัดเป็นท่อนก่อนใส่ถุงดำหรือกระสอบ มัดปากถุงให้สนิทนำไปตากแดดไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือจนกว่าต้นมันสำปะหลังจะตาย
ส่วนจุดสาธิตที่ 2 เป็นจุดสาธิตการควบคุมแมลงหวี่ขาวยาสูบโดยวิธีผสมผสาน เป็นการดำเนินการสาธิตการควบคุมแมลงหวี่ขาวยาสูบโดยวิธีผสมผสาน และการกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร โดยดำเนินการบริเวณจุดสาธิตการทำลายต้นมันสาปะหลังที่เป็นโรคกรณีพบต้นเป็นโรค น้อยกว่า 10 ต้นต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่ หรือบริเวณแปลงข้างเคียงจุดสาธิตกรณีที่พบต้นเป็นโรคมากกว่า 10 ต้นต่อไร่
"พร้อมกันนี้ยังได้มีการรับสมัครเกษตรกรจัดทำแปลงผลิตท่อนพันธุ์สะอาด มีการแจกสมุดบันทึก การสำรวจแปลงที่กรมส่งเสริมการเกษตรจัดพิมพ์ให้ ให้กับเกษตรกร และอาสาสมัครสำรวจการระบาดของโรค ซึ่งอาสาสมัครทั้ง 2 รายการนี้ เกษตรกรที่สนใจสามารถสมัครได้ ณ จุดรับสมัครในงานรณรงค์ หรือสำนักงานเกษตรอำเภอ" นายประจักร์ กล่าว.