"ฉะเชิงเทรา" หนุน "อีอีซี" หลังร่วมเสวนากับประธานหอการค้า อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ และชาวบ้าน ต.เขาดิน เชื่อจะเข้ามาปรับเปลี่ยนและพัฒนาให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ให้เปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ พร้อมสร้างงาน สร้างรายได้...


เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ณ หอประชุมว่าการ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา มีการจัดเวทีเสวนา เรื่อง“วิถีชุมชน สิ่งแวดล้อม กับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายหน่วยงานเข้าร่วม ประกอบด้วย ดร.อภิชาติ ทองอยู่ ที่ปรึกษาเลขาธิการโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ดร.โชคป์ทวีท์ อันถาวร ประธานกลุ่มร่วมพัฒนาเขาดิน นายประโยชน์ โสรัจกิจ ประธานหอการค้า จังหวัดฉะเชิงเทรา อาจารย์ ดร.กฤษนัยน์ เจริญจิตร คณบดีคณะภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา อาจารย์นิทัศน์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี อาจารย์จิรพร ระโหฐาน ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุมวิทยาเขตชลบุรี นายวัฒนชัย บุญมานะ นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นฉะเชิงเทรา ประธานชมรมปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล จ.ฉะเชิงเทรา น.ส.กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ผู้บริหารโครงการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม บลูเทค ซิตี้ นายวิวัฒน์ โมษิตสกุล ที่ปรึกษาโครงการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ชิตี้ นายสุทธา เหมสถล ประธานเครือข่ายคนรักถิ่นฐานบ้านฉาง และนายวิเชษฐ์ เกตุแก้ว ตัวแทนชุมชนพื้นที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี ชุมชนข้างเคียงกับ ต.เขาดิน โดยมีชาวบ้านในพื้นที่ ต.เขาดินกว่า 400 คน เข้าร่วมรับฟังการเสวนาและแสดงความคิดเห็น

...

นายประโยชน์ กล่าวว่า หอการค้า จังหวัดฉะเชิงเทรา มีหน้าที่ส่งเสริมการเติบโตด้านเศรษฐกิจ แต่เดิมพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของฉะเชิงเทรา คือ การทำเกษตรกรรม แต่ปัจจุบันต้องยอมรับถึงจุดของการปรับเปลี่ยน เพราะการผลิตด้านการเกษตรมีมากเกินจนไม่มีมูลค่า ยกตัวอย่างประเทศที่มีความเจริญด้านการค้าและอุตสาหกรรม เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ กลุ่มนี้ พัฒนามาจากการทำเกษตรกรรมและปรับเปลี่ยนมาเป็นพัฒนาการด้านพาณิชย์และอุตสาหกรรม ทำให้เจริญรุดหน้ามากกว่าประเทศอื่น ถ้ากล่าวถึง โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และบลูเทค ซิตี้ เป็นเรื่องธรรมดาของโครงการใหญ่ๆ ที่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนและพัฒนาให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ต้องมีทั้งคนคัดค้านและคนสนับสนุน อาจเป็นความหวังดีที่ยังไม่เข้าใจในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวฉะเชิงเทรา ซึ่งในส่วนของอีอีซี ที่เข้ามาพัฒนาและเปลี่ยนแปลงพื้นฐานการดำรงชีวิตเดิมๆ ของชาวบ้าน ทุกภาคส่วนควรเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันให้โครงการเกิดขึ้นได้จริง เพราะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อโลกโดยรวม

นางสาวกุลพรภัสร์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีอย่างมากที่ ทางผู้จัดงานเสวนาเปิดโอกาสให้ได้แสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “ความเป็นมาของโครงการ และการดำเนินงานในบริบทของบลูเทคซิตี้กับวิถีผู้คน/วิถีชุมชน” ทำให้มีโอกาสบอกเล่าที่มาและรายละเอียดเชิงลึกให้ทุกท่านที่เข้าร่วมงานได้เข้าใจโครงการมากยิ่งขึ้น ที่จริงอยากชี้แจงทำความเข้าใจในหลายๆ ประเด็น เช่น การเบี่ยงประเด็นไปที่เรื่องการแจกไข่ อยากชี้แจงว่าทำด้วยใจ ไม่ได้ทำเพื่อเอาหน้า หรือให้ผ่านๆ ไปวันๆ กับความผูกพันที่อยู่ร่วมกันมา 1 ปี ตลอดระยะที่ผ่านมา บลูเทค ซิตี้ ทำเพื่อต้องการกำลังใจมากกว่า หากต้องการอะไรอยากให้หันหน้ามาคุยกัน ดีกว่ามาด่ากัน ปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข ชาวบ้านที่มีปัญหาขอให้เข้ามาบอกมาเล่าสู่กันฟัง บลูเทค พร้อมช่วยแก้ปัญหา อยากให้จับมือร่วมกันพัฒนาชุมชนให้เป็นแผ่นดินทอง ส่วนเรื่องที่ต้องการให้ "บลูเทค ซิตี้ เซ็นเอ็มโอยู" เรื่องการสร้างงาน การสร้างบุคลากรเข้าทำงาาน ทางเราพร้อมและยืนยันจะรับชาวตำบลเขาดิน คนในพื้นที่เข้าทำงานก่อน

ขณะที่ นายสุทธา กล่าวว่า เมื่อก่อนก็มีคนต่อต้านโรงไฟฟ้ากัน แต่ถามว่าคนที่ต่อต้านต้องใช้มั้ย ก็ต้องใช้และการจะล้มโครงการ อีอีซี คนที่คัดค้านเคยศึกษาบ้างหรือไม่ว่าต้องไปแก้กฎหมายก่อน เพราะโครงการนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 4-5 ปีก่อน ผ่านการศึกษามาเป็นอย่างดีว่า ที่ตรงนี้เหมาะสมที่สุดแล้ว แต่ไม่มีคนมาคัดค้านตั้งแต่ครั้งนั้น จนออกมาเป็นกฎหมายกำลังจะเสร็จสมบูรณ์ทุกอย่างแล้ว อยากถามผู้ที่ออกมาคัดค้านว่า ทำไมไม่ค้านตั้งแต่ก่อนชาวบ้านจะขายที่ดิน มาคัดค้านตอนนี้ทำไม ตนเข้าใจว่าประชาชนที่มาร่วมเสวนาในวันนี้ ล้วนเห็นด้วยกับโครงการที่จะเกิดขึ้นที่ตำบลเขาดิน และรวมตัวกับมาฟังการเสวนาและแสดงความคิดเห็นก็เพื่อจะรอรับโอกาสดีๆ ที่กำลังจะเข้ามา ส่วนใครไม่เชื่อไม่รับ เมื่อโครงการเสร็จขอให้ไปต่อคิวรอรับโอกาสด้านหลัง และให้คนที่ร่วมพัฒนาและพร้อมรับสิ่งใหม่ๆ กับการเปลี่ยนไปในทางที่ดีของเมืองใหม่ บลูเทค ซิตี้ ได้รับโอกาสเป็นรายแรกๆ ไปก่อน.