พช.ปลื้ม ความสำเร็จชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จังหวัดตราด ชู ภูมิปัญญาชุมชนเกาะกูด ทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น การเลี้ยงผึ้งชันโรง ทึ่ง “ชุมชนท่าระแนะ” รักษาป่าชายเลนผืนใหญ่ 2 พันไร่ อายุกว่า 100 ปี เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศ...

วันที่ 22 เม.ย.62 นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) และคณะฯ ลงพื้นที่เยี่ยมชมความสำเร็จของชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และหมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว ตำบลเกาะกูด จังหวัดตราด โดยอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่ากลุ่มพัฒนาอาชีพชุมชน หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะกูด จังหวัดตราด ประสบความสำเร็จในการทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น และการเลี้ยงผึ้งชันโรง ซึ่งเป็นสินค้า OTOP ของชุมชน เป็นภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้าน

ส่วนชุมชน “บ้านคลองเจ้า” โดยอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่าชุมชนแห่งนี้เต็มไปด้วยวิถีชีวิต เพราะชาวบ้านที่นี่มีความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม แม้ว่าเกาะกูดจะกลายเป็นที่ท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นทุกวันก็ตาม แต่ชุมชนยังคงรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาวเกาะกูดเอาไว้อย่างเหนียวแน่น มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันฉันพี่น้อง ทั้งยังมีการบริหารจัดการภายในชุมชนอย่างแข็งแกร่ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วยการรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อผลิตสินค้า OTOP จำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว เกิดเป็นรายได้กระจายไปยังคนในชุมชน อีกทั้งยังมีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ไว้เป็นแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมไปประกอบอาชีพอีกต่างหาก การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนทำให้บ้านคลองเจ้า ได้ร่วมกันจัดเส้นทางการท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในบ้านคลองเจ้า

นอจากนี้ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ยังได้นำคณะเยี่ยมชมชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ชุมชนท่าระแนะ หมู่ที่ 2 ตำบลหนองคันทรง อำเภอเมือง จังหวัดตราด จุดชมธรรมชาติ (บนฝั่ง) โดยอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่าชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีแห่งนี้ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีผืนป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ เป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ ขนาด 2,000 ไร่ อายุกว่า 100 ปี แต่ละต้นมีขนาดใหญ่มาก เป็นแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ชาวบ้านได้อาศัย ผืนป่าแห่งนี้ทำมาหากิน จับปู ปลา กุ้ง หอย ประมาณ 10 ปีมาแล้ว จนกลายอัศจรรย์ป่าชายเลน 1 ใน สถานที่ท่องเที่ยว Unseen แห่งจังหวัดตราด ความมหัศจรรย์อยู่ตรงที่การนั่งเรือไปลานตะบูน 10 นาที เราจะผ่านช่วงป่าในคลองถึง 3 ป่า คือ ป่าโกงกาง ป่าจาก และป่าตะบูน ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนเราได้เข้าไปในป่าดึกดำบรรพ์

...

“ที่บ้านท่าระแนะแห่งนี้ ได้มีการดำเนินแบบวิถีนิเวศป่าชายเลน และฟื้นฟูประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในการเป็นศูนย์กลางท่าเรือสำเภาจีน ขณะที่ทางชุมชนได้นำเสนอ “สปาเจ๊ก” เพื่อสืบสานวัฒนธรรมชนพื้นเมืองตราดเชื้อสายจีนและสมุนไพร โบราณต่างๆ ที่พ่อค้าชาวจีนโบราณแล่นเรือใบมาสรรหาที่เมืองตราด เพื่อนำไปขาย มีการฟื้นฟูเรือใบที่สานจากต้นคันทรง ปัจจุบันวิกฤติ มีจำนวนลดน้อยลง ทำให้เครื่องจักสานจากใบคันทรง มรดกภูมิปัญญาของชาวท่าระแนะสูญหายไปให้กลับคืนมา”

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่ากรมการพัฒนาชุมชนได้ขับเคลื่อนและให้การสนับสนุน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการ “ระเบิดจากข้างใน” มาเป็นแนวทางการดำเนินงาน จนสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้และเห็นผลการขับเคลื่อน นับเป็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่ของการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว และการพัฒนา OTOP ช่วยในการลดความเหลื่อมล้ำให้กับสังคม

“กรมการพัฒนาชุมชนได้สนับสนุนให้ชุมชนที่มีความพร้อม มีสินค้า OTOP และมีทุนหรือเสน่ห์ชุมชนที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น เสนอเป็นหมู่บ้าน ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ OTOP ที่โดดเด่น วิถีชีวิตอัตลักษณ์ ทุนทางวัฒนธรรม ทรัพยากรทางธรรมชาติของชุมชน” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าว