อธิบดี สถ.เปิดการฝึกอบรมการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา รุ่นที่ 10 จ.จันทบุรี เพื่อสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อปท.ให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กปฐมวัย...
เมื่อวันที่ 26 ม.ค.62 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) เปิดการฝึกอบรม และชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดฝึกอบรม และปฏิบัติการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา รุ่นที่ 10 โดยมี นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ อาจารย์ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา อาจารย์บังอร บัวเมือง เลขามูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ผู้แทนของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด ผู้นำชุมชน และผู้เข้ารับการฝึกอบรม กว่า 140 คน เข้าร่วม
จากนั้นได้ลงพื้นที่ปฎิบัติการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาร่วมกับผู้เข้ารับการอบรม ณ องค์การบริหารส่วนตำบลวังใหม่ อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) และมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ดำเนินโครงการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ด้วยสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาโดยชุมชนท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กปฐมวัยด้วยสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และขยายผลไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท. หรือผู้ที่สนใจ โดยมีกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินงานตามโครงการ จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มศูนย์ฝึกอบรม จำนวน 12 อปท. ใน 12 จังหวัด และ 2.กลุ่มศูนย์ต้นแบบประจำจังหวัด จำนวน 76 จังหวัดๆ ละ 1 ศูนย์ โดยการจัดกิจกรรมฝึกอบรมและปฏิบัติการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในวันนี้ จะเป็นการถ่ายทอดความรู้แนวทางในการสร้างสนามเด็กเล่น ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยได้รับเกียรติจากท่านอาจารย์ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และท่านอาจารย์บังอร บัวเมือง เลขามูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา มาเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ และนำฝึกปฏิบัติสร้างสนามเด็กเล่น มีการฝึกอบรม จำนวน 2 วัน เพื่อให้บุคลากรของ อปท.ที่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เข้าร่วมโครงการ และบุคลากรของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด มีความรู้ ความเข้าใจ ในหลักการ วิธีการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และแนวทางการบริหารจัดการสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เพื่อสามารถนำไปดำเนินการในพื้นที่ของตนเอง และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่สนใจต่อไป
...
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า กรมฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การอบรมในครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรมดังกล่าว เพื่อให้ อปท. สามารถนำความรู้ที่ได้รับในครั้งนี้ ไปดำเนินการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในพื้นที่ของตนเองได้อย่างถูกต้องตามแนวทางของมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และร่วมกันพัฒนาเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีพัฒนาการสมบูรณ์ทุกด้านผ่านการเล่นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ซึ่งกรมฯ ต้องขอขอบคุณ ท่านสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ ท่านอาจารย์ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ท่านอาจารย์บังอร บัวเมือง เลขามูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ผู้บริหาร อปท. ผู้นำชุมชน ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันดำเนินโครงการดังกล่าวให้ประสบผลสำเร็จ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด เพราะเด็กต้องมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์เสริม ให้ได้เกิดการพัฒนา IQ ให้ครบทั้ง 4 ด้าน นั่นคือ ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคมจากการเล่น เพราะการเล่นจะเสริมสร้างสมาธิให้แก่เด็ก เกิดความสามัคคีกัน ให้เด็กมีสังคมแห่งมิตรภาพ มีความเป็นจิตอาสา และจุดเริ่มต้นของพัฒนาการที่ดี และในปี 2563 กรมฯ ก็ได้เสนอของบประมาณในการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาเพิ่มขึ้น จากแห่งละ 100,000 บาท เป็นแห่งละ 170,000 บาท โดยกำหนดเป็น KPI ของกรมฯ ในเรื่องสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา นั้นคือ ขอให้ทุก อปท. มีสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา อย่างน้อย อปท.ละ 1 แห่ง ซึ่งอาจจะสร้างในพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท.ใจกลางชุมชนหรือพื้นที่สาธารณะ
"ก็ขอให้มาร่วมส่งเสริมให้เกิดความรัก ความสามัคคีให้ทุกคนในสังคม ร่วมกันสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมและผลักดันให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดี ใช้กลไกของทุกคนในท้องถิ่นมาเป็นพลังขับเคลื่อนสิ่งที่ดีให้กับลูกหลานของเรา เพราะพลังของการขับเคลื่อนเหล่านั้น จะสามารถเป็นแรงหนุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ขยายวงของการพัฒนาการศึกษาของให้มีความยั่งยืนและกว้างไกลต่อไป และให้ร่วมกันสร้างนิสัยให้เด็กรักสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น ส่งเสริมให้เด็กรู้จักการคัดแยกขยะ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการในเรื่องการทำถังขยะอินทรีย์ หรือถังขยะเปียกในครัวเรือน ซึ่งตรงกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงเรื่องของถนนสะอาด ที่กรมฯ ขอให้ อปท.ทำถนนให้สวยงาม ตามโครงการ "1 อปท. 1 ถนน ท้องถิ่นใส่ใจสิ่งแวดล้อม" ซึ่งเป็นโครงการที่กรมฯ จัดขึ้น โดยให้ อปท. ทั่วประเทศสำรวจ และคัดเลือกถนนที่อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบ จำนวนอย่างน้อย 1 สายทางมาพัฒนา ปรับปรุงให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และสวยงาม เช่นปลูกไม้ยืนต้น หรือไม้ดอก ไม้ประดับอื่นๆ ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ดูร่มรื่น และสวยงามทั้งสองข้างถนน ปรับปรุงทิวทัศน์สองข้างทางให้สะอาด และสะท้อนถึงวัฒนธรรม วิถีชุมชน หรือเอกลักษณ์ของชุมชน" นายสุทธิพงษ์ กล่าว