เหตุไม่คาดคิดเมื่อจ่าโทเกรียงศักดิ์ เพ่งพินิจ นักเรียนหลักสูตรหน่วยรบพิเศษของนาวิกโยธินแห่งกองทัพเรือ (รีคอน) ถูกปลาเต็กเล้ง หรือปลากระทุงเหวทะเล พุ่งชนจนเสียชีวิต ทำให้คนสงสัยว่าปลาดังกล่าวอันตราย หรือน่ากลัวหรือไม่? จากปากของมันที่ยาวและแหลมคม หากบังเอิญไปเจอในทะเล จะทำอย่างไร?

ดร.สหภพ ดอกแก้ว นักวิชาการประมงชำนาญการ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ว่า เคสที่เกิดขึ้นกับจ่าโทเกรียงศักดิ์ เป็นเรื่องบังเอิญมากๆ เพราะโดยปกติปลาเต็กเล้ง หรือปลากระทุงเหว เมื่อเจอคนจะกระโดดและกระโจนหนีทันทีตามสัญชาตญาณ ยกเว้นแต่มีคนไปล้อมรอบ หรือขวาง ทำให้ตื่นตกใจ อาจพุ่งชนคนได้

สำหรับปลาเต็กเล้ง หรือปลากระทุงเหวทะเล ขนาดลำตัวยาว 1-1.50 เมตร ปากแหลมยาวทั้งบนและล่างไว้สำหรับล่าเหยื่อกินเป็นอาหาร ซึ่งเป็นปลาทรงยาว ลำตัวเพรียว จึงว่ายน้ำได้เร็วและมีแรงมาก หากพุ่งมาปะทะคนจะเหมือนมีดแทง โดยปกติจะพบเจอตามชายฝั่งทะเลทั่วไป ซึ่งไม่เป็นอันตราย เมื่อเจอคนจะกระโจนหนี ปัจจุบันคนนิยมมารับประทานนำมาทำปลาแดดเดียว หรือทำแกงปลาสับนก แตกต่างจากในอดีตที่คนไม่นิยมมาทำอาหารเพราะเนื้อเหม็นเขียว

...

เช่นเดียวกับ อ.สรณัฏฐ์ ศิริสวย หัวหน้าภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ปลาดังกล่าวมีหลายขนาด พบทั่วไปในทะเลตามชายฝั่ง ซึ่งมีขนาดใหญ่ความยาว 1 เมตร ส่วนปากแม่น้ำจะมีขนาดเล็กกว่า ความยาวประมาณ 1 ฟุต กรณีหากแล่นเรือในทะเล เมื่อปลาพวกนี้เจอคนจะตกใจ จะกระโดดบนผิวน้ำหนีในทิศทางตรงกันข้าม โดยเหตุที่เกิดขึ้นกับนักเรียนหลักสูตรรีคอนถือว่าโชคร้ายมากๆ เพราะในต่างประเทศ อย่างสหรัฐฯ มีปลาซ่ง หรือปลาซ่งฮื้อ นำมาจากจีน ที่น่ากลัวมากกว่า ซึ่งขณะนี้ระบาดในแม่น้ำ เมื่อเจอคนจะตกใจกระโดดพุ่งขึ้นมา ทำให้คนได้รับบาดเจ็บ

“ปลากระทุงเหวทะเล เป็นปลาที่กระโดดไม่สูงจากผิวน้ำ หากว่ายน้ำไปเจอคน เป็นปลาที่ไม่น่ากลัว คิดว่าเคสที่เกิดขึ้นปลาคงตกใจ และว่ายมาด้วยความเร็ว โดยสิ่งที่คนควรจะกลัวมากกว่าและต้องระวัง คือ ปลาปักเป้า ปลานกแก้ว มีปากคมมาก รวมถึงปลาสิงโต อาศัยอยู่ตามแนวปะการัง ทำให้คนดำน้ำดูปะการังได้รับบาดเจ็บมาแล้วหลายราย เพราะเอามือไปจับ รวมถึงไปจับปะการังบางชนิดที่มีพิษเหมือนแมงกะพรุน”.