มาว่ากันต่อถึงเทคนิคการปลูกทุเรียนให้รอด ในแบบฉบับ วุฒิชัย แจ่มสว่าง เจ้าของสวนทุเรียนบ้านสวนปิยะพัทธ์ บ้านชำโสม ต.แสลง อ.เมือง จ.จันทบุรี ผู้คร่ำหวอดในวงการทุเรียนมาหลายสิบปี

คราวที่แล้วแนะถึงวิธีการเลือกกิ่งพันธุ์ เจาะก้นถุงดูและจัดการรากกันไปแล้ว...วันนี้มาว่ากันถึงวิธีการลงมือปลูก

ก่อนลงปลูกต้องเตรียมระบบน้ำให้ดีก่อน ไม่ควรใช้ระบบน้ำหยด เพราะจะทำให้รากหากินได้จำกัดเฉพาะบริเวณที่น้ำหยดถึงเท่านั้น รากขยายไปรอบๆได้ยาก ทำให้ต้นโตช้า ไม่แข็งแรง

ฉะนั้นควรใช้ระบบ สปริงเกอร์ เพราะน้ำกระจายได้ทั่วถึงกว่า

ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการปลูกที่สุด... ปลายฝนต้นหนาว

เพราะแดดไม่แรงมาก ฝนเริ่มน้อย จะช่วยให้ต้นพันธุ์ที่เพิ่งลงปลูกได้ฝึกปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาพอากาศที่จะเจอต่อไปในอนาคต เพราะปลายฝนมีทั้งแดด ลมหนาว และฝน แบบเล็กๆ ไม่สาหัส จึงเหมาะกับให้ทุเรียนวัยอ่อนได้ฝึกปรับตัว

ไม่เหมือนปลูกหน้าฝน น้ำขัง แฉะชื้น โอกาสรากเน่าจะสูงมาก แถมเสี่ยงกับการหักโค่นจากลมพายุ ที่หลายตำราแนะนำให้ทำหลังคากันลมกันฝน...ทำอย่างนั้นเท่ากับเราต้องแบกรับทั้งความเสี่ยงปนสิ้นเปลือง

ไม่ต่างจากการปลูกหน้าร้อน ต้องทำหลังคากันแดดให้ทุเรียนวัยอ่อนเช่นเดียวกัน

แต่ในความเป็นจริง การทำหลังคานอกจากสิ้นเปลืองยังเกิดผลเสียตามมา เพราะถึงเวลาเอาหลังคาออก ทุเรียนที่เคยอยู่แต่ในร่มเงาอบอุ่น เสมือนเด็กเพิ่งหย่านม ต้องมาหัดกินข้าว ต้นทุเรียนต้องมาเจอกับแดด ลมหนาว ฝน แบบเต็มๆตลอดทั้งฤดูกาล มันเลยไม่ต่างจากการต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่

ทำให้ต้นทุเรียนชะลอการเจริญเติบโตไปอย่างน้อย 3 เดือน

ส่วนการเริ่มปลูก หากเป็นกิ่งกระโดง หรือต้องการความสวยงาม ให้ปลูกระยะ 8×8 เมตร หากเป็นกิ่งข้าง หรือมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ให้ปลูกระยะ 6.5×6.5 เมตร

...

คราวหน้ามาว่ากันต่อ...จะปลูกขุดหลุมแบบไหนทุเรียนถึงจะรอดและโตได้ดี.

สะ–เล–เต