นักท่องเที่ยวทั่วสารทิศ ร่วมชมการแข่งขันชักเย่อเกวียนผ้าพระบาท ในงานเที่ยวสงกรานต์ไทยเก๋ไก๋ สไตล์ย้อนยุค “มหาสงกรานต์ตะปอน ตำนานแห่เกวียนผ้าพระบาท” 1ใน 5 งานของ ททท.อย่างคึกคัก...
เมื่อวันที่ 17 เม.ย.61 ที่วัดตะปอนใหญ่ อ.ขลุง จ.จันทบุรี นักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศเดินทางเข้าร่วมเที่ยวสงกรานต์ไทยเก๋ไก๋ สไตล์ย้อนยุค “มหาสงกรานต์ตะปอน ตำนานแห่เกวียนผ้าพระบาท จันทบุรี” กันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะการแข่งขันชักเย่อเกวียนพระบาท ที่เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัย ส่งทีมเข้าร่วมและลงทำการแข่งขันมาต่อเนื่อง เป็นงานประเพณีประจำปี ของชาวชุมชนตะปอน แห่งเดียวในประเทศไทย ที่สืบทอดกันมานานนับร้อยปี เพื่อเป็นการยกระดับงานประเพณีท้องถิ่น ให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศ
สำหรับปีนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สนับสนุนการจัดงานมหาสงกรานต์ขึ้นในจังหวัดเมืองรอง 5 จังหวัด คือ จ.กาฬสินธุ์, กำแพงเพชร, จันทบุรี, นครศรีธรรมราช และสิงห์บุรี และได้คัดเลือกให้งานมหาสงกรานต์ตะปอน เป็น 1 ใน 5 ของงานมหาสงกรานต์ โดยมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น คือ ประเพณีฉุดพระ หรือ การชักเย่อเกวียนแห่ผ้าพระบาท ซึ่งสืบสานเป็นประเพณีมายาวนาน ด้วยความเข้มแข็งของชาวบ้านในชุมชน
...
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศของงานแม้ว่าในปีนี้พื้นที่ ต.ตะปอน จะมีฝนตกลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ทำให้การแข่งขันชักเย่อเกวียนพระบาท ลดความสนุกลงแต่อย่างใด กลับทำให้นักท่องเที่ยวและชาวบ้านได้มีโอกาสสัมผัสบรรยากาศของความสุข สนุกสนาน คึกคัก ตลอดเวลา โดยเฉพาะสมาชิกในแต่ละทีมที่ลงทำการแข่งขัน ซึ่งประกอบไปด้วย ลูกหลานไปจนถึงผู้สูงอายุ ที่มากสุดคือ 80 ปี
ในอดีต ชาวบ้านตะปอน อ.ขลุง จ.จันทบุรี ในยุคสมัยนั้น ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่-ทำนา ได้เกิดโรคระบาด หรือ ที่เรียกว่าโรคห่า ขึ้นภายในหมู่บ้าน มีลูกเด็กเล็กแดง ผู้คนล้มตายกันเป็นจำนวนมาก แผ่นดินเกิดความแห้งแล้ง ในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับประเพณีสงกรานต์ของชาวชุมชน ข้าวปลาอาหารขาดแคลน ชาวบ้านช่วยกันแห่นางแมว จนแมวตายไปหลายตัวก็ไม่ได้ผล จนกระทั้งขลัววัด หรือ เจ้าอาวาสในสมัยนั้น ได้ออกกุศโลบายให้มีการนำผ้ารอยพระพุทธบาท ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ชาว ต.ตะปอน ให้ความเคารพนับถือ ขึ้นเกวียนแห่ไปรอบหมู่บ้านเพื่อขอฝน และให้ผู้คนหายจากอาการเจ็บป่วย
ก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ จู่ๆท้องฟ้าก็มืดครึ้ม มีฝนเทลงมาให้ชาวนาได้หว่านไถปลูกข้าว โรคภัยที่เป็นอยู่ก็หาย จนชาวบ้านเกิดความศรัทธาเลื่อมใส ภายหลัง ชาวบ้านเกิดภัยพิบัติพร้อมกัน ต้องการผ้ารอยพระบาทไปแห่ เจ้าอาวาส จึงตั้งกติกาว่า หากใครต้องการผ้ารอยพระบาทไปแห่ในหมู่บ้านของตนเพื่อขอฝน ขอพร หมู่บ้านนั้น ต้องจัดคนมาแข่งขันชักเย่อเกวียนพระบาทให้ชนะ ใครชนะจะได้ผ้าพระบาทไปแห่ก่อน อันไปที่มาของการชักเย่อเกวียนพระบาท และการแห่เกวียนผ้าพระบาทเนื่องในเทศกาลสงกรานต์
นอกจากประเพณี การชักเย่อเกวียนพระบาท ในงาน “มหาสงกรานต์ตะปอน ตำนานแห่เกวียนผ้าพระบาท จันทบุรี” แล้ว ยังมีการแสดงแสง สี เสียง สื่อผสม ตอนพระยาตากมาเมืองจันทบุรี ที่ได้จำลองบรรยากาศเพื่อสื่อความหมาย ตอนที่พระยาตาก รวบรวมไพร่พล 500 คน ยกทัพตีฝ่าวงล้อมออกมาจากกรุงศรีอยุธยา ผ่านพื้นที่ต่างๆ เพื่อมารวบรวมไพร่พลที่ จ.จันทบุรี และต้องผ่านยุคสมัยความเป็นอยู่ตามประวัติศาสตร์ก่อนหน้าของคนบ้านตะปอน ก่อนที่พระยาตาก จะรวบรวมไพร่พลที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง กลับไปกอบกู้กรุงศรีอยุธยา ในเวลาต่อมา ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีความผูกพันกับชาวบ้านตะปอน อ.ขลุง
...
อย่างไรก็ตาม การจัดงาน “มหาสงกรานต์ตะปอน ตำนานแห่เกวียนผ้าพระบาท จันทบุรี” ปีนี้ ถือเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่ ในการเผยแพร่ประเพณีอันทรงคุณค่า และพัฒนายกระดับศักยภาพการท่องเที่ยว ของชุมชนบ้านตะปอน อ.ขลุง จ.จันทบุรี เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบ อันจะนำมาซึ่งโอกาส การกระจายรายได้จากการท่องเที่ยว เข้าสู่พื้นที่อย่างแท้จริง และยังจะเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีสู่ลูกหลาน ในรุ่นต่อต่อได้ไปอย่างยั่งยืนและยาวนานสืบไป ซึ่งการจัดงาน นอกจากจะมีการแข่งขันชักกะเย่อเกวียนพระบาท และการแสดงแสง สี เสียง แล้ว ยังมีการแห่เกวียนผ้าพระบาท,การก่อพระเจดีย์ทรายจำนวน 2561 กอง ,ตลาดโบราณ 270 ปี ไทยโบราณย้อนยุค อาหารท้องถิ่นทั้งอาหารคาวและหวาน ซึ่งตลอดระยะเวลาการจัดงาน ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน จนวันนี้วันสุดท้าย ณ ถนนสายวัฒนธรรม ที่ร้อยเรียงประวัติศาสตร์ ประเพณีของชุมชน 3 วัด คือ วัดตะปอนน้อย , วัดตะปอนใหญ่ และ วัดเกวียนหัก อ.ขลุง จ.จันทบุรี ได้เสียงตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี.