หลายคนคงยังไม่ทราบว่า บนโลกใบนี้ มีแมลงวันมากกว่า 50 ชนิดที่เกี่ยวข้องกับสิ่งสกปรกอันตราย ปะปนสิ่งแวดล้อมและสามารถแพร่เชื้อโรคต่างๆ มาสู่คน ซึ่งแมลงวันนั้นเป็นพาหะนำโรคแบบเชิงกล คือเชื้อโรคจะติดตามขา ปาก ลำตัว และปีก เมื่อแมลงวัน บินไปตอมอาหารและน้ำ ที่คนรับประทาน เชื้อโรคเหล่านั้น ก็จะลงไปปนเปื้อนอยู่ในอาหารและน้ำ

นอกจากนี้แมลงวันยังมีนิสัยชอบถ่ายและสำรอกของเหลวออกมาเวลากินอาหาร ดังนั้น เชื้อที่ทำให้ก่อเกิดโรคอยู่ในระบบทางเดินอาหารของแมลงวันก็จะถูกปล่อยลงไปปนเปื้อนอยู่กับอาหารและน้ำ แมลงวันเป็นพาหะนำโรคต่างๆ มากมาย ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส เชื้อโปรโตซัว และเชื้อหนอนพยาธิ อีกด้วย และสำคัญที่สุดคือ เจ้าแมลงวันชนิดต่างๆ สามารถบ่งบอกสภาพการตายของศพมนุษย์ในลักษณะต่างๆด้วย 

เหตุนี้เอง คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับ คุณปริญญา บุญชัย อาจารย์พิเศษรายวิชาการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม, การวิเคราะห์และออกแบบระบบ และยังเป็นประธานบริษัท ซีนิธเมดิทัชจำกัด ได้เห็นความสำคัญของสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ประชาชน ซึ่งอาจนำสู่การเกิดโรคร้าย จึงคิดค้น การจำแนกปรสิตที่มีความสำคัญทางการแพทย์ จุดกำเนิดงานนิติกีฏวิทยาของประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI:Chatbot) นำสู่การเปิดตัวmobile application: iParasites ซึ่งสามารถจำแนกแมลงวันหัวเขียว ที่มีความสำคัญทางนิติกีฏวิทยามากที่สุด 

...

แมลงวันวางไข่ได้ครั้งละประมาณ 200 – 300 ฟอง เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผศ.ดร. นพวรรณ บุญชู อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร บอกกับเราว่า สัตว์ขาปล้องเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่พบจำนวนชนิดมากที่สุดในโลก มีบทบาทในสิ่งแวดล้อมและต่อมนุษย์ ทั้งเป็นประโยชน์และโทษ แมลงวันเป็นอีกหนึ่งสัตว์ขาปล้องที่คนทั่วไปส่วนใหญ่รู้จักในเชิงลบ ก่อให้เกิดโทษมากกว่าเชิงบวกที่ก่อให้เกิดประโยชน์ แมลงวันที่พบได้บ่อยและมีความใกล้ชิดกับคน ได้แก่ กลุ่มแมลงวันบ้าน (house fly) แมลงวันหัวเขียว (blow fly) แมลงวันหลังลาย (flesh fly)

"ซึ่งแมลงวันเหล่านี้สามารถปรับตัวและสามารถดำรงชีวิตร่วมกับคนได้เป็นอย่างดี ตัวเต็มวัยมีความสามารถบินได้ในระยะไกล ประมาณ 3-5 กิโลเมตร เพศผู้ส่วนใหญ่ผสมพันธุ์ได้หลายครั้ง เพศเมียสามารถออกไข่ได้ครั้งละจำนวนมาก อาทิ แมลงวันหัวเขียวชนิด Chrysomya megacephala ซึ่งเป็นแมลงวันหัวเขียวชนิดที่พบมากที่สุดในประเทศไทย แมลงวันชนิดนี้สามารถวางไข่ได้ครั้งละประมาณ 200 – 300 ฟอง ทำให้ประชากรของแมลงวันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและสามารถก่อปัญหาได้ในวงกว้าง นอกจากนี้แมลงวันแต่ละชนิดมีชีวนิสัยที่แตกต่างกัน มีความทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดี" 

แมลงวันเป็นสัตว์ขาปล้องกลุ่มแรกที่พบและทิ้งร่องรอยในศพ 

ผศ.ดร. นพวรรณ ยังบอกด้วยว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีผู้ริเริ่มใช้ประโยชน์จากสัตว์ขาปล้องในงานชันสูตรด้านนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเรียกศาสตร์นั้นว่า forensic entomology หรือนิติกีฏวิทยา แมลงวันเป็นหนึ่งในสัตว์ขาปล้องที่มีบทบาทอย่างมากในศาสตร์ด้านนี้ โดยเฉพาะในงานด้าน นิติเวชกีฏวิทยา (forensic medicolegal entomology)

"เนื่องจากงานด้านนี้เกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรม มักพบผู้เสียชีวิต ซึ่งแมลงวันเป็นสัตว์ขาปล้องกลุ่มแรกที่พบในศพและทิ้งร่องรอยในศพ นั่นคือ มีการวางไข่ มีการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ดักแด้และตัวเต็มวัย ตามลำดับ ทำให้สามารถใช้ข้อมูลการเจริญเติบโตของแมลงวันในการย้อนไปหาระยะเวลาหลังการเสียชีวิตได้ โดยเทียบกับการเจริญเติบโตของแมลงวันที่พบในศพดังกล่าว" 

แมลงวันบ่งบอกได้ถึง บาดแผล การทารุณกรรม และเคลื่อนย้ายศพ 

ผศ.ดร. นพวรรณ  เล่าต่อว่า การเจริญเติบโตของแมลงวันชนิดเดียวกันในห้องปฏิบัติการ ซึ่งการหาระยะเวลาหลังการเสียชีวิตนั้น ถ้าพิจารณาจากสภาพศพเพียงอย่างเดียวจะให้ความน่าเชื่อถือได้ภายในเวลา 24 ชั่วโมง และความน่าเชื่อถือจะลดลงตามลำดับเวลาที่ผ่านไป ดังนั้นถ้าเป็นกรณีการเสียชีวิตมากกว่า 24 ชั่วโมง การประเมินระยะเวลาหลังการเสียชีวิตจากการเจริญเติบโตของแมลงเป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ นอกจากนี้ แมลงวันยังสามารถใช้ประโยชน์ในการแสดงถึงการเคลื่อนย้ายศพ

...

เชื่อมโยงระหว่างสถานที่เกิดเหตุ เหยื่อ และผู้ต้องสงสัย ช่วยระบุตำแหน่งบาดแผลบนศพได้ชัดเจน เป็นแหล่งค้นหาสารพิษและสารพันธุกรรมของมนุษย์ รวมถึงเป็นหลักฐานในการยืนยันการทอดทิ้งและการทารุณกรรมได้ แต่ในทางกลับกัน แมลงวันยังสามารถอาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในที่เกิดเหตุได้เช่นเดียวกัน อาทิ การสร้างคราบเลือดแปลกปลอมในที่เกิดเหตุ ดังนั้นจำเป็นต้องมีความระมัดระวังในการพิจารณาหลักฐานในที่เกิดเหตุด้วย และที่สำคัญสัตว์ขาปล้องเป็นหลักฐานที่ผู้กระทำความผิดมักเพิกเฉย ไม่ระวังในการทำลายหลักฐานจากสถานที่เกิดเหตุ

การวิจัยสัตว์ขาปล้อง นำใช้วิจัยศพอีกหลายกรณี 


แต่อย่างไรก็ตาม การนำความรู้เกี่ยวกับสัตว์ขาปล้องไปใช้ประโยชน์จำเป็นต้องอาศัยผู้ปฏิบัติงานที่มีความรู้และความชำนาญเกี่ยวกับสัตว์ขาปล้อง ทั้งในด้านชีววิทยา อนุกรมวิธาน การเก็บตัวอย่างที่ถูกต้องและการปฏิบัติต่อตัวอย่างที่ได้มาอย่างถูกต้องและเหมาะสม นอกจากนี้ยังต้องอาศัยองค์ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ขาปล้องที่มีความสัมพันธ์กับศพอีกจำนวนมาก เพื่อให้การนำไปใช้ประโยชน์มีความถูกต้องมากที่สุด จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ขาปล้อง โดยเฉพาะแมลงวันอย่างต่อเนื่อง

...

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI Chatbot  mobile application: iParasites 

ผศ.ดร. นพวรรณ บุญชู อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวรและคุณปริญญา บุญชัย ประธานกรรมการบริษัทซีนิธเมดิทัชจำกัด ได้ร่วมกันพัฒนา mobile application: iParasites สำหรับจำแนกชนิดปรสิต ซึ่งรวมถึงแมลงวันด้วย โดยได้ใช้เทคโนโลยี เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI Chatbot เปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับนักวิจัยและผู้สนใจทั่วไป mobile application: iParasites นี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักวิจัยและผู้สนใจสามารถจำแนกแมลงวันได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

ซึ่ง mobile application: iParasites เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนางานวิจัยและการเรียนรู้ด้านปรสิตวิทยาต่อไป นอกจากนี้แอปพลิเคชันนี้ยังมีฟังก์ชันอื่นที่น่าสนใจ อาทิ อภิธานคำศัพท์ (Glossary) ที่รวบรวมคำศัพท์เกี่ยวกับทางปรสิตวิทยาและนิติกีฏวิทยา ฟังก์ชัน Knowledge ที่จะให้ความรู้ที่ทันสมัย มี QR code scanner มีระบบแจ้งเตือน (Notification) สำหรับแจ้งเตือนข่าวสารที่สำคัญ ซึ่งอนาคตอันใกล้นี้ ผศ.ดร. นพวรรณ บุญชูและคุณปริญญา บุญชัย ได้ร่วมกันจัดทำหนังสือเกี่ยวกับนิติกีฏวิทยา ที่ผสมผสานการใช้เทคโนโลยีกับเนื้อหาทางด้านนิติกีฏวิทยาออกมาอีกด้วย

...