ดร.หยาดรุ้ง สุวรรณรัตน์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จ.จันทบุรี เผยว่า ในอุตสาหกรรมทำอาหารสำเร็จแปรรูปกุ้งแชบ๊วย มักจะมีเปลือกและส่วนหัวเหลือทิ้งเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่ จ.จันทบุรี กระบวนการกำจัดนอกจากจะให้ชาวบ้านมาช่วยกันขนเอาไปหมักทำปุ๋ย ขายได้ไม่กี่สิบบาทหรือไม่ต้องจ้างให้ขนไปทิ้งกลายเป็นปัญหาส่งกลิ่นเน่าเหม็น ทาง ม.ราชภัฏฯจึงคิดหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการนำเปลือกและหัวกุ้งมาทำเป็นโปรตีนทดแทนปลาป่น โดยใช้แบคทีเรียแลคติกมาช่วยเร่งการย่อยสลาย
“โดยธรรมชาติหัวกุ้งจะมีโปรตีนไฮโดรไลเสทเทียบเท่ากับโปรตีนที่มีอยู่ในปลาป่น แต่การจะได้โปรตีนดังกล่าว ต้องใช้แบคทีเรียจากอาหารหมักดองมาช่วยย่อยหัวกุ้งให้เปลี่ยนเป็นโปรตีน เราพบว่าในอาหารหมักดอง หน่อไม้ดอง ปลาร้า แหนมหมู มีเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้เป็นจำนวนมาก เบื้องต้นจึงต้องหาว่าอาหารชนิดไหนมีเชื้อแบคทีเรียตัวที่ดีสุด ด้วยการนำอาหารหมักดองแต่ละชนิดมาแยกเชื้อ และพบว่าในหน่อไม้ดองมีแบคทีเรียแลคติกมากและมีคุณสมบัติย่อยหัวกุ้งให้เปลี่ยนเป็นโปรตีนไฮโดรไลเสทได้ดีที่สุด”
...
ดร.หยาดรุ้ง บอกถึงกระบวนการผลิตโปรตีนไฮโดรไลเสทจากการหมักหัวกุ้งด้วยแบคทีเรียที่ได้จากหน่อไม้ดอง ว่าเริ่มจากนำเศษเหลือกุ้งบด 500 กรัม ล้างให้สะอาด ทิ้งให้สะเด็ดน้ำ เก็บไว้ในอุณหภูมิ -20 ํc จากนั้นนำแบคทีเรียแลคติกจากหน่อไม้ดอง นำไปผสมกับเปลือกกุ้งและนำไปบ่มในอุณหภูมิ 37 ํc นาน 24 ชม.
นำหัวกุ้งที่หมักไปปั่นแยก จึงนำเข้าสู่กระบวนการทำให้แห้ง เพื่อความสะดวกในการนำไปใช้เป็นส่วนผสมอาหารสัตว์น้ำแทนปลาป่น
เมื่อนำไปทดลองใช้เลี้ยงปลา พบว่าสามารถกระตุ้นให้ปลากินอาหารได้ดี เหมือนใช้ปลาป่นเป็นวัตถุดิบ ที่สำคัญการใช้หัวกุ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมมาเป็นส่วนผสมอาหารสัตว์น้ำ ทำให้มั่นใจได้ว่าปลอดสารตกค้าง เพราะปัจจุบันกุ้งที่นำมาแปรรูปส่วนใหญ่มาจากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน GAP ถูกสุขอนามัย ช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าสัตว์น้ำที่ซื้อมาบริโภคปลอดสารตกค้าง และยังเพิ่มมูลค่าของเหลือจากอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร.